วันนี้ (13 เม.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงการศิลปินแห่งชาติสูญเสียครูช่าง นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) เมื่อปีพ.ศ.2554 ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชรบุรี ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบที่บ้านพัก จ.เพชรบุรี เมื่อเวลา 00.10 น.
มีรายงานว่า ครูทองร่วง มีอาการอ่อนเพลีย จุกเสียดแน่นท้อง ไม่อยากกินอาหารมาหลายวัน และมีร่างกายอ่อนเพีลย กระทั่งช่วงเย็นวันที่ 12 เม.ย. ครอบครัวพาเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์เจาะเลือดเพื่อตรวจค่าต่างๆ ในร่างกาย พบค่าตับสูงกว่าปกติ
กระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. ครูทองร่วงขอกลับมาพักรักษาตัวที่บ้านพักในต.ช่องสะแก ถึงแก่กรรมโดยสงบ เบื้องต้นทางครอบครัวมีความประสงค์ประกอบพิธีสวดอภิธรรมศพที่บ้านพักตำบลช่องสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
การเสียชีวิตของครูทองร่วง ในวัย 80 ปี พบว่าบรรดาลูกศิษย์ได้ร่วมกันเขียนข้อความในโลกออนไลน์จำนวนมาก เนื่องจากครูทองร่วง ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศิลปะปูนปั้นเมืองเพชร
เฟซบุ๊ก ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ระบุว่า sacit ขอแสดงความอาลัยครูทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น) และครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2554 ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้นที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัว สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิมของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรีและต่างจังหวัดอีกมากมาย
sacit ขอแสดงความอาลัยยิ่ง ต่อการจากไปของครูทองร่วง เอมโอษฐ ขอให้ครูไปสู่สุขคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ
สำหรับครูทองร่วง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์–ศิลปะปูนปั้น) ประจำปี 2554 เกิดเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2486 ที่ ต.บางกระบือ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
ครูทองร่วง เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดใน จ.เพชรบุรี และต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดเขาบันไดอิฐ
สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้งประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย อย่างสวยงาม
และผลงานที่ครูทองร่วง ภาคภูมิใจคือ ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรในฐานะผู้ เชี่ยวชาญด้านพุทธศิลป์สถาปัตยกรรมและประติมากรรมไทยในโครงการ บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเตรียมการฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์