ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มุนบิน เสียชีวิต กรณีศึกษา โรงงานผลิต "K-POP Idol"

สังคม
21 เม.ย. 66
05:59
5,603
Logo Thai PBS
มุนบิน เสียชีวิต กรณีศึกษา โรงงานผลิต "K-POP Idol"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความเสียใจต่อการจากไปของศิลปินเกาหลีอันเป็นที่รัก ย่อมเกิดขึ้นกับแฟนคลับหรือแฟนด้อมนั้นๆ แต่ภายใต้น้ำตาที่เสียใจนั้น ทุกคนต่างมองว่า นั่นคือปัญหาส่วนตัว และเปลี่ยนความเสียใจไปสู่การติดตามไอดอลคนใหม่ที่มีอย่างล้นหลามในเวลาต่อมา

ท่ามกลางความเสียใจของเหล่า AROHA ทั่วโลกต่อการจากไปของ "มุนบิน" สมาชิกวง K-POP ชื่อดัง Astro แม้ทางต้นสังกัดจะยังไม่ยืนยันถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก หรือเหตุการณ์ที่นานครั้งจะเกิดขึ้น

ต้นสังกัดยืนยัน "มุนบิน" Astro เสียชีวิตด้วยวัย 25 ปี

"การเสียชีวิต" ของศิลปินเกาหลี สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของวงการบันเทิงเกาหลี ที่ อาจารย์ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา ที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำกัดความไว้ว่านี่คือ "โรงงานผลิตสินค้า K-POP Idol"

อยากเกิดต้องประสบความสำเร็จ

ฟังดูแล้วก็ไม่ผิดอะไร แต่ในสังคมเกาหลี ด้วยสภาพสังคมที่มีทั้งแรงกดดันและความเครียด ทำให้เหล่าศิลปิน ไอดอล รวมถึงวัยรุ่นช่วงมัธยมปลาย คือกลุ่มที่ต้องรับแรงปะทะก้อนโตก้อนนี้แทบทั้งประเทศ

ข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าในปี 2564 เกาหลีใต้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่ม ตามมาด้วย ลิทัวเนียและสโลวีเนีย ข้อมูลนี้ถูกตอกย้ำด้วยสำนักงานสถิติเกาหลีเองว่า อัตราการฆ่าตัวตายของชาวเกาหลีใต้อยู่ที่ 26 คนต่อประชากร 100,000 คน

สาเหตุหลัก เพราะสภาพสังคมหล่อหลอมประชากรให้ยึดติดกับคำว่า "ต้องประสบความสำเร็จ" จึงจะได้รับการยอมรับ แต่ด้วยวุฒิภาวะที่ยังมีไม่มากพอ รวมถึงสังคมเกาหลีที่ไม่ได้นับถือศาสนา การดำรงชีวิตโดยปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยว จึงเหมือนใบไม้ที่พร้อมปลิดปลิวออกจากกิ่งต้นไม้ได้ตลอดเวลา

ให้เกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ หรือ สงบสยบเคลื่อนไหว ?

แทบทุกครั้งของการแถลงเสียชีวิตของศิลปินในสังกัด ที่ต้นสังกัดมักจะระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตยังไม่แน่ชัด ต้องให้เวลากับการสอบสวน และความเป็นส่วนตัวให้กับครอบครัว และสุดท้ายก็จะปล่อยให้กาลเวลาค่อยๆ พัดพาการจากลาจนหายไป

อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การแถลงข่าวของต้นสังกัด มองได้ 2 รูปแบบ คือ ต้นสังกัดมักใช้คำว่า "เคารพความเป็นส่วนตัว" โดยอ้างจากบริบทของสังคมเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวสูงมาก แต่ในแง่หนึ่งคือ

จริงอยู่ที่แรงกดดันมหาศาลเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ศิลปินเครียด
แต่น่าจะต้องมีประกายไฟ ที่ทำให้ไฟติดจนเผาไหม้ศิลปินผู้นั้น

หลายกรณีที่ถูกพบหลังจากการสอบสวนการเสียชีวิตแล้วพบว่ามาจาก การพนัน, ยาเสพติด, ชู้สาว หรือการมีคดีต้องขึ้นศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็น "ประกายไฟ" ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ K-POP Idol ต้องมอดไหม้ลงไปได้

แต่สิ่งที่น่ากลัวมากไปกว่านั้นคือ การแถลงที่ดูเหมือนไม่แถลงนี้ กำลังสร้างอันตรายต่อมุมมองคนเกาหลีในแง่ของ "การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องสำคัญ" เพราะสังคมจะเริ่มมองปรากฏการณ์ศิลปินจบชีวิตตัวเองเช่นนี้ด้วยความชินชา

เกาหลีก็เครียดอยู่แล้ว ทนไม่ไหวก็หาทางออกแบบนี้ คนจะเริ่มเมินเฉยกับเหตุการณ์เหล่านี้มากขึ้น

อ.ไพบูลย์ย้ำว่านี่คืออันตรายที่ไม่ควรมองข้าม และต้องให้ความสำคัญ

โรงงานผลิต K-POP เกาหลี 4.0

อ.ไพบูลย์เล่าว่าวงการ K-POP นับกันเป็นรุ่น ศิลปินเกาหลีรุ่น 1.0 เช่น TVXQ, SJ, WG , SNSD ศิลปินรุ่นนี้คือคนที่มีพรสวรรค์และเดินเข้าหาค่าย จากนั้นค่ายจึงตั้งคอนเซปต์ และทำวงขึ้นมาให้ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีวุฒิภาวะมากพอ พร้อมออกอัลบั้มสร้างรายได้มหาศาลให้กับค่ายได้ทันทีที่อายุ 18-19 ทำให้ค่ายไม่จำเป็นต้องนำพวกเขามาอยู่ร่วมกันในหอพัก เหมือนอย่างที่เราได้เห็นวงการศิลปินเกาหลียุคปัจจุบัน  

ในขณะที่ศิลปินปัจจุบันรุ่น 4.0 เช่น (G)I-DLE, LOONA, TXT และ ITZY เหล่านี้คือผลิตผลจาก โรงงานผลิต K-POP ของจริง โดยที่ค่ายจะเริ่มวางคอนเซปต์ศิลปินที่ต้องการ แล้วจึงเลือกเด็กตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เข้าออดิชันเป็นศิลปินฝึกหัดเป็นเวลา 2-3 ปีแล้วจึงเดบิวต์เป็นศิลปิน ซึ่งทุกขั้นตอนคือค่าใช้จ่ายที่ต้นสังกัดลงทุน

ค่ายจะวางคอนเซปต์ว่าต้องการ 1 คนในวงที่ไม่ใช่คนเกาหลี ก็จะเดบิวต์ศิลปินฝึกหัดคนนั้นเข้ามา ต่างจากวงสมัยก่อนที่ใครมาก็ได้ เดี๋ยวมาวางคอนเซปต์กันทีหลัง

บวกกับกฎหมายที่รัฐบาลเกาหลีออกมาในปี 2552 กำหนดให้ค่ายเพลงทำสัญญากับศิลปินได้เพียงครั้งละ 7 ปี กลายเป็นว่าต้นสังกัดถูกบีบด้วยกฎหมาย จึงต้อง "ทำกำไร" กลับคืนให้คุ้มกับ "สิ่งที่ลงทุน" แรงกดดันจึงตกอยู่กับศิลปินที่ถูกบีบด้วยตารางงาน มีตติ้ง คอนเสิร์ต อีเว้นท์ โฆษณา ภายในช่วงเวลาหลังจากเดบิวต์เรียบร้อยแล้ว 

สัญญา 7 ปี ฝึกหัดไปแล้ว 3 ปี เหลืออีก 4 ปีช่วงเอาเงินคืน แต่อาจจะดันแค่ช่วง 2 ปีแรก จากนั้นก็ค่อยๆปล่อยให้หมดสัญญาไป แรงกดดันจึงไปตกอยู่ที่ 2 ปีแรกที่เริ่มออกอัลบั้ม เพื่อเรียกทุนและกำไรทั้ง 7 ปีที่เสียไปคืนมา 

ช่วงอายุที่เรียกกระแสได้ดีคือวัย 18-22 ปี ดังนั้นหากต้องเสียเวลา 3-4 ปี ในการฝึกหัด ก็ต้องเริ่มรับเด็กที่อายุ 15 ปี ซึ่งในวัยนี้ที่ต้องจากบ้าน จากครอบครัว มาตามหาฝัน แม้จะอยากเป็นดาวสักเท่าไหร่ แต่การต้องทนรับแรงกดดัน การแข่งขันกับเด็กอีกร้อยกว่าชีวิต "ด้วยตัวเอง" บวกกับคำพูดที่ว่า "อยากดังต้องสำเร็จ" คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ในโรงงานผลิตสินค้า K-POP แหล่ง Soft Power ระดับโลกที่เกาหลี

งานที่หนัก แฟนคลับที่ต้องดูแล นำพาซึ่งรายได้กลับสู่โรงงาน แต่เมื่อหมดสัญญาก็ไร้ค่า ไร้ความหมาย ไลน์ผลิตที่มีสินค้าวงถัดไปใกล้ถึงเวลาออกสู่ตลาด กว่าจะถึงฝั่งฝัน บางครั้งดาวก็กลับสู่ดิน โดยที่ไม่ทันได้ส่องแสง เบื้องหลังวงการศิลปินเกาหลีที่ต้องเข้มแข็งให้มากถึงมากที่สุดจริงๆ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง