ชาวโซเชียลพากันตั้งคำถามถึงอากาศที่ร้อนจัดเกิน 40 องศาเซลเซียสในประเทศไทย จนทำให้แฮชแท็กกรมอุตุนิยมวิทยา และค่าไฟแพง รวมทั้งคลื่นความร้อน ติดคำค้นยอดนิยมลำดับต้นๆ หลังจากช่วง19-21 เม.ย.นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกคำเตือนค่าดัชชีความร้อนสูงสุดมากกว่า 54 องศาเซลเซียส
ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนทะลุ มีรายงานจากสื่อต่างประเทศ ระบุว่า อุณหภูมิสูงสุดที่เรียกว่า "คลื่นความร้อน" ในเดือนเม.ย.นี้ เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เอเชีย กำลังคุกคามในอินเดีย จีน ไทย และลาว โดยเฉพาะที่อินเดีย มีผู้เสียชีวิตจากฮีทโตรกถึง 13 คน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสมควร ต้นจาน ผอ.กองตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังยืนยันว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดทะลุ 40 องศาเซลเซียสในประเทศไทย ยังเป็นผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมประเทศไทยในระดับท้องถิ่น
อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก "ฮีทสโตรก" ภัยความร้อนเกิน 40 องศาฯ ตายเฉลี่ย 33 คนต่อปี
ยังไม่ใช่คลื่นความร้อนเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งมีอุณหภูมิร้อนสูง 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องหลายวัน และมีการสะสมของความร้อน และมีค่าเฉลี่ยอุณภูมิที่เพิ่มสูงถึงวันละ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งทั้งสองประเทศเผชิญคลื่นความร้อนมาตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
ไทยยังไม่เผชิญคลื่นความร้อนปกคลุมตามที่มีข่าวในโซเชียล ความร้อนที่ปกคลุมในไทยเป็นเฉพาะบางพื้นที่มาจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ไม่ใช่คลื่นความร้อนที่เกิดจากความร้อนสะสม และอุณหภูมิที่เพิ่มสูงเฉลี่ย 2-3 องศาฯ และบางแห่งก็มีฝนตกลงมาทำให้อุณหภูมิลดลง
อ่านข่าวเพิ่ม เม.ย.ร้อนจัด! ทุก 1 องศาฯ ที่เพิ่มขึ้นแอร์กินไฟเพิ่ม 3%
ร้อนเทียบสถิติเดิม 44.6 องศาฯ
นายสมควร กล่าวอีกว่า ปัจจัยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในตอนนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูร้อนของไทยที่คาดการณ์ว่าจะมีอากาศร้อนจัดถึง 43 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ต้นฤดูของหน้าร้อนมีความร้อนจากความกดอากาศต่ำปกคลุมอย่างต่อเนื่อง มีการสะสมของความร้อน ประกอบกับขณะนี้ ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก ทำให้การรับแสง และมีแดดแรงโดยเฉพาะในภาคกลาง
ปีนี้ยอมรับว่าหน้าร้อนปีนี้อากาศร้อนอบอ้าวมีอุณหภูมิสูงเกิน 39-40 องศาฯ โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ อุณหภูมิร้อนสูงสุดของวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมาที่ จ.ตาก เท่ากับสถิติเดิมของเดือนเม.ย.2559 คือ 44.6 องศาฯ
มิ.ย.นี้เผชิญเอลนิโญ-เสี่ยงร้อนแล้ง
ส่วนกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศค่าดัชนีความร้อนสูงสุดถึง 54 องศาฯ นายสมควร กล่าวว่า เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูง แต่ต้องสัมพันธ์กับความชื้นสูงจะทำให้ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดทำให้มีการออกประกาศเตือนออกมา
ขณะที่หน้าร้อนของปีนี้ จะสิ้นสุดในช่วงกลาง เดือนพ.ค.นี้ ดังนั้นยังมีโอกาสที่อุณหภูมิอาจแตะ 40 องศาฯไปอีกเรื่อยๆ แต่ไม่น่าจะทุบสถิติความร้อน
นอกจากนี้ในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะเผชิญปรากฎการณ์เอลนิโญ่แบบปานกลาง เทียบกับปี 2562-2563 ซึ่งฝนน้อย และเกิดภาวะแห้งแล้งค่อนข้างหนัก และอาจทำให้เจอความร้อนอีกระลอกก็ได้
อ่านข่าวเพิ่ม เตือน 21 เม.ย.นี้ ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดมากกว่า 54 องศาฯ
รู้จักคลื่นความร้อน
สำหรับคลื่นความร้อน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนไว้ว่าอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันนั้น จะต้องมีอุณภูมิสูงกว่า 40 องศาฯ และมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 องศาฯ ติดต่อกันอย่างน้อย 5-7 วัน
และมีคลื่นลมร้อน ที่เกิดจากระบบความกดอากาศสูง หรือที่รู้จักในชื่อแอนติไซโคลน (anticyclone) ทำให้เกิดการสะสมแรงกดบนชั้นบรรยากาศเหนือพื้นที่หนึ่งซึ่งส่งผลให้กระแสลมไหลเวียนลงและทำหน้าที่เสมือนฝาของโดมความร้อน กักเก็บความร้อนที่สะสมอยู่ที่พื้นราบ ระบบความกดอากาศสูงยังผลักกระแสลมเย็นและเมฆออกไปทำให้แสงอาทิตย์สาดมายังพื้นโลกได้โดยไม่มีอะไรสกัดกั้น
ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะค่อยๆ สะสมในพื้นดิน ทราย คอนกรีต และยางมะตอยโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของฝั่งซีกโลกเหนือที่จะแกนโลกเอนไปรับแสงอาทิตย์จนทำให้เวลาในช่วงกลางวันยาวนานและอากาศอบอุ่นขึ้น เมื่อความร้อนถูกสะสมและไม่สามารถเคลื่อนที่ไปไหนได้ อุณหภูมิก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
คลื่นความร้อนพบได้มากในพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย รวมถึงพื้นที่สูงซึ่งมักอยู่ภายใต้ระบบความกดอากาศสูงเป็นประจำ แต่ความชื้นจากพื้นดินจะช่วยบรรเทาความร้อนลงเสมือนที่เราขับเหงื่อออกเพื่อให้ร่างกายเย็นลง เมื่อน้ำที่พื้นราบมีไม่เพียงพอ อากาศก็จะแบกรับความร้อนส่วนเกินเหล่านั้นแทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"กรมอุตุนิยมวิทยา" ชี้ค่าดัชนีร้อน 50.2 องศาฯ ไม่ใช่ตัวเลขรายวัน
"เพชรบูรณ์" นำโด่งร้อนสุดในไทย - เหนือยังเผชิญค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน