"น้องอ้อม" วัย 36 ปี เซลส์ขายรถ จ.เชียงใหม่ คือ ผู้เสียชีวิตรายล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2566 จากกระทำของผู้ก่อเหตุวัย 40 ปี ที่ล่อลวงหญิงสาวให้นำเอกสารจากร้านขายรถออกไปให้ในจุดที่ห่างจากร้านกาแฟ เพียง 30 เมตร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา
ไม่มีใครเห็น "น้องอ้อม" ขึ้นรถไปกับใคร แต่กล้องวงจรปิดบันทึกภาพ ชายคนหนึ่งขับรถยนต์กระบะสีขาวดัดแปลงตู้ทึบด้านหลังมาจอด แล้วขับออกไปใช้เส้นทางหลักแม่โจ้-แม่แฝก จากนั้นไม่มีใครติดต่อหญิงสาวได้อีกเลย
บ่ายวันที่ 30 เม.ย.2566 ตำรวจพบรถยนต์ที่ผู้ก่อเหตุใช้เป็นยานพาหนะ และจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ ก่อนจะนำตัวไปตรวจค้นจุดซ่อนร่างของเซลส์สาวไว้ในโรงแรมแห่งหนึ่งย่าน ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
จากการตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่าชายผู้ก่อเหตุเคยมีประวัติเข้าคุกคดีข่มขืน ลักทรัพย์ คดียาเสพติด และเพิ่งพ้นคุกออกมา
อ่านข่าว : พบศพ "เซลส์สาว" ในโรงแรม จ.เชียงใหม่
วันที่ 10 เม.ย.2566 ชายคนนี้ก่อคดีใช้อาวุธจี้หญิงสาวอายุ 18 จากร้านค้าไปข่มขืนและถ่ายคลิปแบล็คเมล์ ผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ขณะที่ผู้ก่อเหตุอยู่ระหว่างประกันตัวออกมาสู้คดี ก็กลับมาก่อเหตุซ้ำกับ "น้องอ้อม"
ทั้งนี้ หลังกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศมีผลบังคับใช้ มีผู้ต้องขังในฐานความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิตร่างกาย และเสรีภาพ พ้นโทษไปแล้ว 29 ราย
เผยสถิติ 5 อันดับคดีอุกฉกรรจ์
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบข้อมูลย้อนของกรมราชทัณฑ์ ปี 2563 พบว่า มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว 156,744 คน จำนวนนี้มีผู้กลับมากระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี 18,949 คน และกลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี จำนวน 33,676 คน
ข้อมูลปี 2564 ระบุว่า มีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว 195,925 คน โดยมีผู้ต้องขังกลับมาทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จำนวน 22,090 คน ยังไม่พบข้อมูลการกระทำความผิดซ้ำรอบ 2 เช่นเดียวกับปี 2565 และปี 2566
ส่วนสถิติการกระทำความผิดซ้ำของผู้ต้องขัง 30 เม.ย2566 กรมราชทัณฑ์ระบุว่า มี 5 อันดับ คือ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 66.00 เปอร์เซ็นต์ , ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 13.26 เปอร์เซ็นต์ , ความผิดอื่นๆ 9.36 เปอร์เซ็นต์ , ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 6.38 เปอร์เซ็นต์ และความผิดเกี่ยวกับเพศ 2.28 เปอร์เซ็นต์
แม้คดีความผิดเกี่ยวกับเพศจะรั้งท้ายอยู่ในอันดับ 5 นับแต่ พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566
เปิดเงื่อนไขกฎหมายป้องก่อเหตุซ้ำ
กฎหมายป้องกันการทำผิดซ้ำในคดีความผิดทางเพศฯ (Justice Safety Observation ad hoc) หรือกฎหมาย JSOC เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน
ภายใต้การกำกับดูแลของกรมคุมประพฤติ เพื่อติดตามผู้พ้นโทษจาก 5 ฐานความผิดคดีอุกฉกรรจ์ คือ คดีข่มขืนกระทําชําเรา คดีความผิดทางเพศกับเด็ก คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย และคดีเรียกค่าไถ่ ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 12 มาตรา เอาผิดกับผู้กระทําความผิด 3 กลุ่ม มีคดีความผิดทางเพศ , ชีวิตและร่างกาย และเรียกค่าไถ่
หลังกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงยุติธรรมจะต้องออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรการสำคัญ เช่น การบำบัดฟื้นฟู จะเกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ โดยต้องมีทีมแพทย์ร่วมพิจารณาก่อนปล่อยตัว
เช่นเดียวกับการให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการเฝ้าระวังผู้ต้องหาหลังพ้นโทษ โดยการใส่กำไลอีเอ็มสูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่ถ้าผู้ถูกเฝ้าระวังประพฤติตัวดี ก็สามารถขอลดระยะเวลาการใส่กำไลอีเอ็มได้
กรมคุมประพฤติจะเป็นผู้เสนออัยการ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งใช้มาตรการคุมขังฉุกเฉิน กรณีพบผู้ถูกเฝ้าระวังมีพฤติกรรมเสี่ยง เวลาทำการของศาลจะเปิดวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อรองรับการขอสั่งคุมขังฉุกเฉิน ภายใน 7 วัน
ซึ่งศาลอาจพิจารณาผลออกมาได้ 3 แนวทาง คือ ไม่เข้าเงื่อนไข , เข้าเงื่อนไข แต่ยังไม่จำเป็นต้องติดกำไลอีเอ็มคุมประพฤติ ให้ผู้พ้นโทษรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ หรือให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติไปติดตามดูพฤติกรรมของผู้พ้นโทษแทน และต้องสวมกำไลอีเอ็มคุมประพฤติ และสั่งคุมประพฤติ
โดยเจ้าหน้าที่จะประสาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเรียกผู้อุปการะหรือครอบครัวที่ให้การรับรองมาสอบถามข้อเท็จจริง หากพบกระทำผิดจริงก็จะเสนอให้รับโทษตามกฎหมายต่อไป
แม้ขณะนี้กฎหมาย JSOC จะมีผลบังคับใช้ ผ่านไปแล้ว 3 เดือน แต่การก่อคดีความผิดซ้ำในเรื่องเพศ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :