ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : เปิดงบประมาณ "นโยบาย" หาเสียง ...เกินตัว?

การเมือง
12 พ.ค. 66
12:28
1,203
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : เปิดงบประมาณ "นโยบาย" หาเสียง ...เกินตัว?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้นโยบายหลายอย่างที่พรรคการเมืองประกาศออกมา มีวัตถุประสงค์มุ่งแก้ปัญหาของประชาชน แต่มีนโยบายจำนวนมากที่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้และจะสร้างภาระทางการคลังให้ประเทศในระยะยาว จากการใช้งบประมาณเกินตัว

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตั้งข้อสังเกตต้นทุนทางการเงินของนโยบายของพรรคการเมืองและที่มาของเงิน โดยวิเคราะห์จากเอกสารที่พรรคการเมืองยื่นเสนอต่อ กกต. โดยทีดีอาร์ไอเลือกศึกษาเฉพาะพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562

จากข้อมูลที่พรรคการเมืองนำเสนอ เฉพาะที่มีการระบุวงเงิน พบว่ามี 4 พรรคที่มีนโยบายต้องใช้งบประมาณมากในระดับ 1 ล้านล้านบาท ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 1.9 ล้านล้านบาท, พรรคเพื่อไทย 1.8 ล้านล้านบาท, พรรคก้าวไกล 1.3 ล้านล้านบาท และพรรคพลังประชารัฐ 1 ล้านล้านบาท

นโยบายเกือบทุกพรรคการเมืองมีแนวโน้มว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น จนขาดดุลงบประมาณอย่างมากใน 4 ปีหน้า ซึ่งนอกจากจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังอาจทำให้เงินเฟ้อขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง หากไม่สามารถควบคุมได้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง อีกทั้งเป็นการบังคับให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องปรับสูงขึ้น

ทีดีอาร์ไอ ยังตั้งข้อสังเกตต่อเอกสารของแต่ละพรรคการเมือง พบว่า พรรคภูมิใจไทย มีการรายงานนโยบายไม่ครบ, พรรคเพื่อไทย มองการขยายตัวเศรษฐกิจดีเกินจริง, พรรคก้าวไกล จัดทำเอกสารดี แต่นโยบายมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้าน, พรรคพลังประชารัฐ ใช้เงินนอกงบประมาณเสมือนไม่มีต้นทุน, พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกองทุนไม่มีรายละเอียด และพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุต้นทุนการเงินต่ำกว่าจริง

สำหรับข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 แต่ยังไม่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อย่างที่หลายพรรคการเมืองเสนอ ส่วนพรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียง ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี และควร “เก็บกระสุน” ไว้ใช้กระตุ้นในกรณีที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเช่นกัน

นอกจากนี้ พรรครัฐบาลควรระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพราะในอนาคตประเทศจะมีภาระเพิ่มขึ้นจากกองทุนประกันสังคม กับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะสูงขึ้นอีกมากจากการเป็นสังคมสูงอายุ

เมื่อมีการใช้เงินต้องหาเงินด้วย แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ประกาศนโยบายต่างๆ ออกมายังไม่ได้ระบุชัดว่าจะหาเงินมาจากแหล่งใด ซึ่งการเก็บภาษีใหม่, การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่มี รวมถึงการลดสิทธิพิเศษทางภาษีแก่คนที่มีรายได้สูง จึงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาก และเพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้าน รัฐบาลต้องทำให้สังคมเห็นว่าภาษีที่เก็บไปจะสร้างประโยชน์อะไรบ้าง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC วิเคราะห์ผลกระทบต่อการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 โดยระบุว่า การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะทำให้การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าว ล่าช้ากว่าปกติ ประเมินเบื้องต้นว่าจะล่าช้าราว 3-4 เดือน แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลไม่ราบรื่น อาจทำให้การประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ล่าช้าถึง 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567

การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองครั้งนี้ มีข้อเสนอด้วยว่า พรรคการเมืองควรยกระดับมาตรฐานการจัดทำเอกสารระบุต้นทุนของนโยบายและที่มาของเงิน เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่ควรจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : "เลือกตั้ง" ดันเงินสะพัดในระบบกว่า 2 แสนล้าน

เลือกตั้ง2566 : เปิดตัวเลขผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "เจเนอเรชัน X" มากสุด

เลือกตั้ง2556 : กกต.ให้ตัวแทนจาก 24 ประเทศ ร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้ง ส.ส.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง