วันนี้ (16 พ.ค.2566) รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำผลตรวจสอบสารเคมีที่ตรวจยึดได้จากการตรวจวัตถุพยาน 296 รายการ ที่ชุดสืบสวนส่งมาให้ตรวจสอบ มอบให้กับตำรวจหลังตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว
ในจำนวนนี้พบว่ามี "ไซยาไนด์" ปะปนอยู่ ซึ่งเป็นสารที่ไม่พบในธรรมชาติ แต่เป็นสารสังเคราะห์ขึ้นมา สั่งซื้อมาแบบเฉพาะเจาะจง ลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายเกลือ ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้ และเสียชีวิตได้รวดเร็วภายใน 1-2 นาที ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับนางสรารัตน์ หรือ "แอม" ผู้ต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและคดีพยายามฆ่าผู้อื่น หรือไม่นั้น ต้องรอให้ชุดสืบสวนตรวจสอบ
ส่วนการรับสารภาพของ "แอม" ล่าสุดที่อ้างว่าใช้ไซยาไนด์ผสมกับสารเสพติด รศ.วีรชัย เห็นว่า ผู้ต้องหามีที่ปรึกษาที่มีความรู้อยู่ภายนอกและพอจะรู้แนวทางการต่อสู้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการต่อสู้คดีลักษณะนี้ในประเทศอินโดนีเซีย
อ่านข่าว : บิ๊กโจ๊กเผย "แอม" ยอมรับให้ไซยาไนด์ "ก้อย" แต่ยังไม่สารภาพว่าฆ่าใคร
สำหรับสารไซยาไนด์ไม่สามารถใช้ผสมกับยาเสพติดได้ เนื่องจากเป็นยาพิษ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีปี 2565 มีคำสั่งให้ควบคุมการนำเข้าสารตั้งต้นยาเสพติด 3 ชนิด คือ เบนซิลคลอไรด์ เบนซิลไซยาไนด์ และโซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 3 ชนิด ก่อนหน้านี้พบว่ามีการนำเข้าผ่านประเทศไทยไปผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะถูกนำส่งกลับมาขายในไทย จึงมีคำสั่งให้ควบคุมสารดังกล่าว ซึ่งวันนี้ (16 พ.ค.) จะนำข้อมูลดังกล่าวให้ชุดสืบสวนพิจารณาถึงการดำเนินคดีของแต่ละคดีที่ตรวจพบ
รศ.วีรชัย ระบุอีกว่า การผลิตยาเสพติดด้วยสารตั้งต้นดังกล่าวค่อนข้างยาก ต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีเป็นผู้ผลิต เพราะจะต้องดัดแปลงถึง 3 ขั้นตอนกว่าจะได้เป็นยาเสพติด แต่ไซยาไนด์คดีของแอม ไม่สามารถนำมาตั้งต้นเป็นสารเสพติดได้ เพราะหากกินไปเพียง 10 มิลลิกรัมก็เสียชีวิตทันที ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมีทักษะและประเมินแล้ว "แอม" ไม่สามารถกระทำได้อย่างแน่นอน
สำหรับการตรวจหลักฐานที่ตำรวจส่งมาให้ในรอบที่ 3 พบว่ามีหลักฐานที่ตรวจพบไซยาไนด์ชัดเจน ส่วนยาแก้พิษไซยาไนด์ ในช่วงแรกยังไม่ทราบว่าเป็นสารแก้พิษ แต่เมื่อได้ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญและแพทย์ พบว่าสารชนิดนี้เป็นสารที่ใช้แก้พิษดังกล่าว ส่วนรายละเอียดการตรวจสอบขอให้ตำรวจเป็นผู้เปิดเผย เนื่องจากเป็นข้อมูลทางคดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง