ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ญี่ปุ่นคุมเข้ม! ความปลอดภัยประชุม G7 หวั่นซ้ำรอยผู้นำถูกทำร้าย

ต่างประเทศ
19 พ.ค. 66
18:56
804
Logo Thai PBS
ญี่ปุ่นคุมเข้ม! ความปลอดภัยประชุม G7 หวั่นซ้ำรอยผู้นำถูกทำร้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 เหล่าผู้นำได้ลงนามร่วมกันใช้มาตรการใหม่คว่ำบาตร "รัสเซีย" โดยจะปิดกั้นรัสเซียไม่ให้ได้รับเทคโนโลยี อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมและบริการจากกลุ่ม G7 รวมถึงธุรกิจค้าเพชรที่สร้างรายได้หลักให้รัสเซีย

วันนี้ (19 พ.ค.2566) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ซึ่งประกอบไปด้วย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสหภาพยุโรป จัดขึ้น ณ เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยเหล่าผู้นำได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการทำให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์

"ไบเดน" ปฏิเสธขอโทษญี่ปุ่นเรื่องทิ้งระเบิดฮิโรชิมา

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ได้อธิบายเหล่าผู้นำ เรื่องข้าวของของผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กว่า 100,000 ชิ้น ทั้งหมดใช้เวลาในพิพิธภัณฑ์นานถึง 40 นาที แล้วจึงเดินไปยังอนุสาวรีย์ เพื่อวางพวงมาลาแสดงความอาลัยระลึกถึงผู้เสียชีวิต กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นระบุว่า G7 แสดงถึงจุดยืนเรื่องการทำให้โลกปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และไม่ยอมรับหากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์

ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมวางพวงมาลา

ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมวางพวงมาลา

ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมวางพวงมาลา

นอกจากนี้ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งสหรัฐฯ เปิดเผยกับสื่อที่เดินทางมากับเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันว่า ปธน.ไบเดน รู้สึกเป็นเกียรติในการเข้าร่วมประชุม G7 ที่ฮิโรชิมา กับ นายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ที่เป็น ส.ส.เมืองฮิโรชิมะ แต่ไม่มีแผนจะกล่าวขอโทษในนามสหรัฐฯ ในเรื่องที่สหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เมืองนี้เมื่อปี 2488 

ไบเดน นับเป็นประธานาธิบดีในตำแหน่งคนที่ 2 ของสหรัฐฯ ต่อจากนายบารัค โอบามา ที่เยือนฮิโรชิมะในปี 2559 เมืองนี้เป็นเมืองแรกของโลกที่ถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ จากนั้นสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 ที่เมืองนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

G7 กดดัน "รัสเซีย" ใช้มาตรการใหม่คว่ำบาตรทางการค้า

การขยายข้อกำหนดในการจำกัดการส่งออกสินค้าที่มีความจำเป็นต่อรัสเซียในสนามรบ รวมถึงหน่วยงานที่เชื่อว่าช่วยเคลื่อนย้ายสิ่งของไปให้กับรัสเซีย เป็นมาตรการใหม่ที่ G7 จะนำมากดดันรัสเซียให้ยุติการรุกรานยูเครน เช่น การปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยี อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมและบริการที่สนับสนุนเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย

เพชร

เพชร

เพชร

และจะดำเนินการเพื่อจำกัดการค้าและการใช้เหมืองเพชร กระบวนการเจียรนัยหรือผลิตเพชรในรัสเซีย ซึ่งธุรกิจค้าเพชรของรัสเซีย มีมูลค่าปีละ 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มสมาชิก G7 จะกดดันรัสเซียเพิ่มขึ้น ใช้วิธีจำกัดการค้าเพชรกับรัสเซียนำโดยประเทศอังกฤษ นอกจากนั้น อังกฤษยังเล็งห้ามนำเข้าอลูมิเนียม ทองแดง และ นิกเกิ้ล อีกด้วย 

ผู้นำยูเครนเตรียมเข้าพบ G7

รัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐเปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ปธน.โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วยตัวเอง แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะระบุว่า ผู้นำยูเครนมีกำหนดจะเข้าร่วมการประชุมผ่านทางออนไลน์ แต่หาก เซเลนสกี เดินทางมาร่วมการประชุมด้วยตัวเองจริง จะนับเป็นการเดินทางมาเอเชียครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามยูเครน

ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมหารือมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมหารือมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ผู้นำกลุ่ม G7 ร่วมหารือมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

ญี่ปุ่นเข้มความปลอดภัยผู้นำ G7 หวั่นซ้ำรอยผู้นำถูกทำร้าย

ทางการญี่ปุ่นคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยในการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น โดรนติดกล้อง เพื่อตรวจจับพฤติกรรมต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว การตรวจตรายานพาหนะที่ผ่านเข้าออกสถานที่ประชุม เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตามประกบผู้นำเพื่ออารักขาความปลอดภัย ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเจ้าหน้าที่ประจำตัวอยู่แล้วก็ตาม  

ผลสำรวจความเห็นชาวญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคม 2565 พบว่าร้อยละ 70 รู้สึกว่าญี่ปุ่นมีความปลอดภัยลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุร้ายทางการเมืองหลายครั้ง เช่น เหตุยิงสังหารอดีต นายกฯ ชินโซ อาเบะ ขณะช่วยหาเสียงในเมืองนารา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 และล่าสุดเหตุคนขว้างระเบิดใส่ นายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ เมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

อ่านข่าวอื่นๆ :

 "ชูวิทย์" จี้ สธ.แก้ระเบียบคุมร้าน "กัญชา" ห้ามขายหน้าโรงเรียน

รอลุ้น 9 โมงตรง 20 พ.ค.นี้ ประกาศผล TCAS'66 รอบ 3

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง