ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เลือกตั้ง2566 : วินาทีประวัติศาสตร์ 8 พรรคลงนาม MOU ตั้ง "รัฐบาลก้าวไกล" ตัดมาตรา 112

การเมือง
22 พ.ค. 66
17:09
29,155
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : วินาทีประวัติศาสตร์ 8 พรรคลงนาม MOU ตั้ง "รัฐบาลก้าวไกล" ตัดมาตรา 112
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
8 พรรคการเมือง MOU จัดตั้งรัฐบาล "พิธา" เผยถือเป็นประวัติศาสตร์ สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย

วันนี้ (22 พ.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่โรงแรมคอนราด กทม. ตั้งแต่เวลา 15.30 น. บรรดาแกนนำจาก 8 พรรคการเมืองได้ทยอยเดินทางมาร่วมประชุมร่วมกัน ก่อนที่จะมีการร่วมแถลงการลงนามข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีการนัดหมายสื่อในเวลา 16.30 น. ทั้งนี้ ถือเป็นการรวมตัวกันครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการแถลงจับมือตั้งรัฐบาลของประชาชนเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงเช้าพบว่ามีร่าง MOU จำนวน 23 ข้อและอีก 5 ข้อเป็นข้อตกลงแนวทางบริหารประเทศ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีการบรรจุมาตรา 112 อยู่ใน MOU ฉบับนี้

อ่านข่าว : เลือกตั้ง2566 : เปิด (ร่าง) MOU ฉบับตั้งรัฐบาลก้าวไกลก่อนลงนาม 16.30 น.

บรรยากาศการแถลงลงนาม MOU ครั้งนี้ยังพบว่า นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เข้ามานั่งในห้องแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ท่ามกลางสื่อมวลชนทั้งไทย และต่างประเทศที่มาเกาะติดจนแน่น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ต่อมาเวลา 16.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนจากอีก 7 พรรคการเมืองร่วมสำหรับตัวแทนการลงนามครั้งนี้ นำโดย นายพิธา อยู่ตรงกลาง ส่วนขวามือคือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ถัดไปเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยนายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม

ส่วนซ้ายมือของนายพิธา คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ และนายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง

โดยนายพิธา กล่าวว่า วันนี้ 22 พ.ค.มีการแถลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นวันสำคัญกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครบรอบรัฐประหาร พ.ศ.2557 และเป็นวันที่เซ็นข้อตกลงในการตั้งรัฐบาล เป็นวันประวัติศาสตร์ที่หมุดหมายสะท้อนความสำเร็จสังคมไทย เปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบบรัฐสภาอย่างสันติ และจุดหมายในการลงนามข้อตกลงร่วม MOU ได้รวบรวมวาระที่เห็นร่วมกันเพื่อผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาล และรัฐสภา และความรับผิดชอบที่จะเสนอกับพี่น้องทั้งประเทศ

โดยบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งรัฐบาลทำขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานตัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคสังคมใหม่

โดยทุกพรรคเห็นร่วมกันภารกิจของรัฐบาลที่การผลักดันจะไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ขององค์พระมหากษัติย์ ประกอบด้วยวาระต่อไปนี้

โดยมีเนื้อหา 23 ข้อ และอีก 5 ประเด็นที่ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้

MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล

MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล

MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล

เนื้อหา 23 ข้อ ประกอบด้วย

1.ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

2.ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับ ประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ

3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยืดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน

4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม

5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง

6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของ ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต

7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน

8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหสื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม

9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้

10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา

11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักตันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)

14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว

15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน

16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา

17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มงเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน

19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ

20.ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ

21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด

23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบพหุภาคี และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ

MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล

MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล

MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล

ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน

2. ทุกพรรคจะทํางานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะ ยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที

3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือ ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

4. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอ้านาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง

5. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

ทั้งนี้หลังมีการอ่านแถลงการทั้ง 23 ข้อแล้วเสร็จ ได้เริ่มกันลงนาม MOU โดยเริ่มจากนายพิธา เป็นคนแรก จากนั้นเป็น นพ.ชลน่าน ต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ คุณหญิงสุดารัตน์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ พรรคไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่

8 พรรคการเมือง MOU จัดตั้งรัฐบาล

8 พรรคการเมือง MOU จัดตั้งรัฐบาล

8 พรรคการเมือง MOU จัดตั้งรัฐบาล

ก้าวไกลยืนยันเดินหน้ายื่นแก้ไข ม.112

นายพิธา ตอบคำถามประเด็นยื่นแก้ไข มาตรา 112 การอภิปรายในสภาฯ และการหาข้อยุติเรื่องนี้ ว่า พรรคก้าวไกลยืนยันจะทำอยู่ เมื่อเดือน ก.พ.2564 ก็ได้ยื่นเรื่องนี้เข้าสภาฯ แล้ว แต่ไม่มีการบรรจุ สำหรับครั้งนี้คิดว่าน่าจะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ยังมีการยื่นอยู่โดยการดำเนินการของพรรคก้าวไกล

โดยทีมเจรจาได้ตอบข้อสงสัยของ ส.ว.ในหลายเรื่องประเด็น มาตรา 112 ทั้งเจตจำนง เนื้อหาของกฎหมายที่ตั้งใจจะทำให้ มาตรา 112 ไม่เป็นเครื่องมือโจมตีและทำลายทางการเมือง พร้อมทั้งอธิปรายสิ่งที่เกิดขึ้น และเปรียบเทียบถึงความเป็นสากล ซึ่งใน MOU เขียนไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ น่าจะทำให้ ส.ว. และประชาชนจำนวนมาก สบายใจมากขึ้น ยืนยันว่า มาตรา 112 เป็น 1 ใน 45 กฎหมาย ที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นในสภาฯ และพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ในมุมกลับกันไม่ได้คิดว่าจะสร้างความกังวลใจเมื่อได้พูดคุยกัน เพราะบางทีอาจฟังข้อมูลไม่ตรง โดยขณะนี้มีแนวโน้มที่ดี

ส่วนกรณีกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ มีพรรคไหนดูแลเป็นพิเศษ คณะพูดคุยที่ผ่านมาทหารเป็นคนนำ จะเปลี่ยนเป็นพลเรือนหรือไม่ พิธา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ส่วนใครจะดูแลในแต่ละกระบวนการเป็นเรื่องรายละเอียดที่ต้องคุยกัน โดยสัญญาว่าจะต้องมีพลเรือนอยู่ในกระบวนการด้วย พลเรือนต้องนำทหาร และต้องเปลี่ยนจากความมั่นคงเป็นความมั่งคั่ง

หัวหน้าพรรคประชาชาติตอบคำถามสมรสเท่าเทียม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ตอบคำถามสื่อกรณีสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่า การทำพิธีสมรสจะต้องประกอบด้วยคู่สมรสและผู้ทำพิธี ทั้ง 2 อย่างจะไปบังคังไม่ได้ เนื่องจาก 1 ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา และกฎหมายจะไปบังคับไม่ได้ ทั้งหลักศาสนา และ 2.ผู้ที่จะทำการสมรส เช่น โต๊ะอิหม่าม คอเต็บ บิลาล ถ้ามาไม่ถูกต้อง จะไปบังคบให้เขาทำพิธีไม่ได้เพราะขัดกับหลักศาสนา

เช่นเดียวกับศาสนาอื่น เช่น พระถ้าไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาที่ตัวเองเชื่อถือก็จะไม่สามารถให้พระหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น กระทำพิธีให้กับคู่สมรส ที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาได้

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

นายวันมูหะมัดนอร์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้นั้น ถูกแก้ปัญหาโดยไม่ถูกวิธีมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน เป็นการแก้โดยใช้อำนาจ ใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปโดยไม่เล็งผลถึงประชาชนในพื้นที่

ผมยืนยันว่า รัฐบาลที่มีคุณพิธาเป็นนายกฯ และหากไปดู MOU ทั้ง 23 ข้อจะเกี่ยวข้องกับการจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกี่ยวกับการสร้างสันติสุขและการกระจายอำนาจ พี่น้องประชาชนในพื้นที่เกือบทั้งหมดต้องการกระจายอำนาจเท่านั้น

แต่อาจจะมีคนที่เห็นแตกต่างบ้างเพียงเล็กน้อยและใน MOU บอกว่า จะมีการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจให้คนเหล่านั้นกลับมาสู่อ้อมอกของแผ่นดินไทย แผ่นดินแม่อย่างสงบสุข และอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมนี้อย่างมีความสุข

ขอยืนยันว่า ไม่มีใครคิดจะแบ่งแยก ถ้ามีก็น้อยมาก เพราะถ้ามีพวกผมคงไม่ได้เข้าสู่สภาอย่างนี้ เพราะเรายืนยันว่า เราต้องการมาเล่นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเราสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้

ส่วนผู้ที่มีความเห็นต่าง ต้องใช้เวลาเจรจาด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันซึ่งคงไม่เป็นประเด็นถึงต้องเสียด้ามขวาน แต่ถ้าแก้ไม่ถูก ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์อันนี้จะเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาว

"พิธา" ไม่กังวลหากเสนอชื่อนายกฯ ไม่ผ่านเสียง 376 เสียงรัฐสภา

นายพิธา กล่าวถึงกรณีการเตรียมแผนสำรองหากเสนอชื่อนายกฯ แล้วไม่ผ่านเสียง 376 เสียงของรัฐสภา ว่าตอนนี้กระบวนการในการทำงานทั้งคณะเจรจา และคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองทางรัฐสภาเป็นไปได้ด้วยดี ยังไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะไปอยู่ในฉากทัศน์นั้น แต่หากเป็นแบบนั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ตรงนี้จึงยังไม่เป็นข้อกังวล

และในฐานะผู้นำจัดตั้งรัฐบาลทำงานมา 4 ปีเริ่มทำงานร่วมกันมา 1 สัปดาห์ มีความหนักแน่ อะไรที่สั่นคลอนที่จะหวั่นไหว ยืนยันเป็นข่าวลือทำงานด้วยความเคารพและให้เกียรติ ซึ่งกันและกันไม่มีความกังวล 

ส่วนกรณีนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทางการเมืองไม่ถูกบรรจุใน MOU นั้น นายพิธา ตอบว่า ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปเยอะมาก การอำนวยความยุติธรรมให้ผู้เห็นต่างทางการเมือง หรือนิรโทษกรรม มีความพยายามพูดคุยกัน แต่ตัดสินใจให้เป็นวาระของแต่ละพรรค และพรรคก้าวไกลยืนยันที่จะทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ของพรรคก้าวไกล

"พิธา" ไม่ห่วงปมถือหุ้นสื่อ เตรียมชี้แจงไว้แล้ว

นายพิธา กล่าวถึงกรณีการถือหุ้นสื่อ ว่ายังไม่ต้องมีความกังวลใดๆ ต้องรอคำร้องจากทาง กกต.ก่อน ตอนนี้ไม่จำเป็นจะต้องตีตนไปก่อนไข้ และเคยอธิบายไปหลายหลายครั้งแล้วว่าเรื่องของหลักฐานหลักกฎหมายเราได้เตรียมตัวที่จะชี้แจงไว้แล้วและได้อธิบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ตอนที่เป็นอนาคตใหม่ด้วยซ้ำ แต่ว่าแน่นอนทั้งหมดทั้งปวงต้องรอทางคำร้องว่ามีลักษณะแบบไหนมีการยื่นคำร้องมาแบบไหนแล้วเราจะค่อยๆ อธิบายให้สังคมเข้าใจ

กระแสโซเชียลมีผลต่อเสถียรภาพและการทำงานของพรรคก้าวไกล

นายพิธา กล่าวถึงกรณีกระแสโซเชียลหรือข้อเรียกร้องต่างๆ ในออนไลน์ ที่มีผลต่อเสถียรภาพและการทำงานของพรรคก้าวไกล ว่า ไม่ได้อยู่ในโลกโซเชียลอย่างเดียว แต่เป็นการฟังเสียงประชาชนในการควบคุมวาระทางสังคมต่างๆ ซึ่งคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง ซึ่งการเป็นประชาธิปไตยมี 4 เสา ทั้งการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ, สื่อมวลชน รวมถึงการควบคุมวาระทางสังคมผ่านการรวมตัวกันอย่างสันติ ดังนั้นไม่ว่าจะทางออนไลน์-ออฟไลน์ หากเป็นคนไทยก็ต้องฟังเสียงทุกคน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

เพื่อไทยยืนยันเป็นไปไม่ได้ร่วม พปชร. ตั้งรัฐบาล

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงการวิเคราะห์ว่าจะมีการยุบพรรคพลังประชารัฐแล้วมาร่วมกับเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยจะได้ 182 เสียง เป็นเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาล โดยนักวิชาการวิเคราะห์ว่าจะจัดตั้งรัฐบาล 3 ล้านเปอร์เซ็นต์ ว่า ต้องเรียนด้วยความเคารพว่าเพื่อไทยไม่เคยรับรู้รับทราบ และตนเองในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ได้ยินข่าวจากการวิเคราะห์ ยังยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเพื่อไทยไม่เคยรับรู้ และขอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ แม้เหตุการณ์จะเกิดจริงหรือไม่จริง ความเป็นไปได้ที่เพื่อไทยจะร่วมกับพลังประชารัฐหลังยุบพรรค ต้องตอบว่าเป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดที่บอกว่าเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันครั้งที่ 501 ว่าเรายังยึดมั่นใจเจตนารมณ์ที่ประกาศสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกฯ คนที่ 30 และร่วมมือกับก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้ได้

นพ.ชลน่าน ยังตอบถึงข่าวดีลลับที่ฮ่องกง ว่า ข่าวลือดีลลับเป็นสิ่งที่ทุกคนเล่าลือได้ แต่ยืนยันว่าเพื่อไทยยังยึดมั่นในเจตนารมณ์ของประชาชน และจะจับมือไปกับก้าวไกล ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็แล้วแต่  

8 พรรค จับมือ หลัง MOU ร่วมรัฐบาล

8 พรรค จับมือ หลัง MOU ร่วมรัฐบาล

8 พรรค จับมือ หลัง MOU ร่วมรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เลือกตั้ง2566: ย้อนศร "รัฐประหาร" 22 พ.ค. ถือฤกษ์ 16.30 น.ลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล

เลือกตั้ง2566 : เลขาฯก้าวไกล ยัน MOU เป็นไปด้วยดี ลงตัวตามข้อเสนอพรรคร่วม

เลือกตั้ง2566 : “พิธา” เดินสายขอบคุณ สัญญาจะเป็นคนเดิม

วิเคราะห์ : สัดส่วน รมต. คนละครึ่ง ?

เลือกตั้ง2566 : "พิธา" นำ 8 พรรคแถลงร่วมตั้งรัฐบาล 313 เสียง มั่นใจโหวตผ่านนายกฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง