มีบ้านไหนเป็นแบบนี้บ้าง ที่ต้องมีใครสักคนในครอบครัวที่หาของไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตา โทรศัพท์ รีโมตแอร์ รู้ตัวอีกทีก็พบว่าถืออยู่ที่มือ หรืออีกสถานการณ์ที่พบบ่อย ๆ อย่างการเดินเข้าไปในครัวแล้วลืมว่าจะมาหยิบอะไร อาการลักษณะนี้อาจไม่ใช่การหลงลืมธรรมดา แต่อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาการบ่งชี้ของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุ
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่กำลังเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาการนี้เป็นภาวะที่จำกัดการทำงานของสมอง ทำให้เกิดความสับสน ความจำเสื่อม บุคคลเหล่านี้จำนวนมากมักลืมตำแหน่งของสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาลดลง และเพิ่มภาระให้กับผู้ดูแล
วิศวกรจากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู (Waterloo University) ประเทศแคนาดา ได้ค้นพบวิธีการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยให้กับผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับภาวะสมองเสื่อมได้ ซึ่งได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยสร้างหน่วยความจำให้กับหุ่นยนต์ชนิดใหม่นี้ด้วย
ขั้นตอนการพัฒนาเริ่มต้นจากหุ่นยนต์ Fetch ควบคุมด้วยมือถือ ซึ่งมีการติดตั้งกล้องไว้รอบตัว จากนั้นได้ตั้งโปรแกรมให้หุ่นยนต์ใช้อัลกอริทึมในการตรวจจับ ติดตาม และเก็บบันทึกความทรงจำของวัตถุเฉพาะมุมมองกล้องผ่านวิดีโอที่บันทึกภาพไว้ และเมื่อหุ่นยนต์สามารถแยกแยะวัตถุหนึ่งออกจากอีกวัตถุหนึ่งได้ หุ่นยนต์จะสามารถบันทึกเวลาและวันที่วัตถุเข้าหรือออกจากมุมมองของกล้องที่ติดตั้งไว้ได้
นักวิจัยยังได้พัฒนาอินเทอร์เฟซในรูปแบบกราฟิกเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกวัตถุที่ต้องการติดตามได้ และหลังจากพิมพ์ชื่อวัตถุแล้ว ให้ค้นหาวัตถุนั้นในแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ จากนั้นหุ่นยนต์ก็จะสามารถระบุได้ว่าเมื่อใดและที่ใดที่มันสังเกตเห็นวัตถุนั้นครั้งล่าสุด
จากการทดสอบพบว่าระบบมีความแม่นยำสูง อีกทั้งผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย หุ่นยนต์ตัวนี้จึงถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงสามารถช่วยลดภาระให้กับผู้ดูแลได้มากขึ้นด้วย
ที่มาข้อมูล: uwaterloo, popsci, yahoo
ที่มาภาพ: uwaterloo
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech