ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชายปวดท้องน้อยนานหลายเดือน ตรวจพบ "นิ่วก้อนยักษ์" หนัก 700 กรัม

สังคม
25 พ.ค. 66
10:53
749
Logo Thai PBS
ชายปวดท้องน้อยนานหลายเดือน ตรวจพบ "นิ่วก้อนยักษ์" หนัก 700 กรัม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชายวัย 74 ปี ปวดท้องน้อยมานานหลายเดือน ปัสสาวะบ่อยกะปริบกะปรอย เอกซเรย์พบว่ามีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขนาดใหญ่ หนัก 707.6 กรัม แนะวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นนิ่ว

เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2566 โรงพยาบาลนครพิงค์ โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความ ผู้ป่วยชายอายุ 74 ปี มารับการตรวจที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ด้วยอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ เป็นๆ หายๆ ปัสสาวะบ่อยกะปริบกะปรอย มาหลายเดือน ตรวจเอกซเรย์พบว่ามีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขนาดใหญ่มาก วัดได้ 10.2 × 8.6 ซม. นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีนิ่วในไตซ้ายขนาดใหญ่อีกด้วย

ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลนครพิงค์ จึงได้ทำการผ่าตัดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะออก พบว่านิ่วมีน้ำหนักถึง 707.6 กรัม การผ่าตัดลุล่วงไปด้วยดี

นพ.ประพนธ์ เปี่ยมอนันต์ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขนาดยักษ์อย่างเช่นในกรณีนี้พบได้ไม่บ่อย เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยจึงมักจะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามนิ่วที่มีขนาดใหญ่มากเช่นนี้ก็ยังคงพบได้

สำหรับนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคที่พบได้บ่อย ในแต่ละปีคนไทยป่วยเป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะมากกว่า 50,000 คน ในจำนวนนี้เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ราว 5% มักจะพบร่วมกับภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะพิการจากโรคทางระบบประสาท เป็นต้น

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด และมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ หากมีอาการดังนี้ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ

ป้องกันตนเองอย่างไรไม่ให้เป็น "นิ่ว" 

1. ดื่มน้ำมาก ๆ ดื่มจนกว่าจะมีปัสสาวะ 2 ลิตร/วัน ยกเว้นกรณีป่วยเป็นโรคที่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำมากๆ

2. ลดการบริโภคอาหารที่มีสารก่อนิ่ว เช่น

  • กรดยูริก พบมากใน เนื้อสัตว์ เครื่องใน ยอดผัก กะปิ แอลกอฮอล์
  • ออกซาเลต พบมากในใบชา ผักโขม ผักปวยเล้ง ช็อคโกแลต และไม่ควรทานวิตามินซีเสริมมากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/วัน

3.บริโภคอาหารที่มีสารยับยั้งนิ่วมากขึ้น เช่น

  • ซิเตรท พบในผลไม้หลายชนิด เช่น ส้ม มะนาว
  • อาหารที่มีกากใย ช่วยยับยั้งการดูดซึมสารก่อนิ่ว

4. บริโภคแคลเซียมแต่พอดี กับความต้องการในแต่ละวัน

5. ลดเค็ม ลดคาร์โบไฮเดรต ลดน้ำหนัก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง