"ส่วย" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุว่ามี 2 ความหมาย คือ เป็นคำนาม รายได้แผ่นดินประเภทหนึ่ง เรียกเก็บเป็นสิ่งของหรือเงินตราแทนการเข้าเดือนหรือการรับราชการ และสิ่งของพื้นเมืองที่เมืองหลวงเรียกเกณฑ์จากหัวเมืองเป็นประจำเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ หรือบรรณาการจากประเทศราช
อีกความหมายหนึ่ง คือ ชนชาติพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรพวกหนึ่ง อยู่ทางภาคอีสาน
สำหรับความหมายคำว่า "ส่วย" ซึ่งเป็นที่รับรู้ในสังคมไทย หมายถึงสินบนที่จ่ายเป็นประจำ ดังกรณีเหตุการณ์ที่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ออกมาระบุว่า มีการจ่ายส่วยในรูปแบบสติกเกอร์ เป็นรายเดือนหลักพันถึงหมื่นบาท เพื่อแลกการไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมหากรถบรรทุกสินค้าน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด หรือน้ำหนักเกิน 50 ตัน
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยเคยมีการจ่ายส่วยสารพัดรูปแบบ เพื่อแลกกับการไม่ถูกตรวจสอบ หรือได้รับอภิสิทธิ์บางอย่างจากเจ้าหน้าที่รัฐที่รักษากฎหมาย เช่น ส่วยสถานบันเทิง เรียกเก็บเงินแลกการเปิดเกินเวลา ลักลอบค้าประเวณี ค้ายาเสพติด, ส่วยศุลกากร หิ้วของจากต่างประเทศแลกกับการไม่ต้องถูกตรวจค้น ส่วยหาบเร่แผงลอย ส่วยลอตเตอรี่ ส่วยรถตู้ ส่วยวินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ
แม้ไทยจะมีกฎหมายบังคับควบคุมไม่ให้มีการกระทำผิด เรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน กลุ่มธุรกิจทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าผู้กระทำความผิดมักจะยอมติดสินบนเจ้าหน้าที่ หรือจ่าย "ส่วย" ให้ เพื่อแลกการไม่ถูกตรวจสอบ-จับกุม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยในระบบอุปถัมป์ของสังคมไทย
แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ นอกจากจะทำให้เสียระบบการบังคับใช้กฎหมายแล้ว ยังทำให้เกิดความเสียหาย เพราะระบบจ่ายส่วย เอื้อประโยชน์และเปิดช่องทางให้มีการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ จนไม่สามารถประเมินมูลค่าความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ส่วย สติกเกอร์” แลกช่องทางด่วน ผู้ละเมิดกฎหมาย
เลขาฯ ต้านคอร์รัปชัน ชง ป.ป.ช.สอบบัญชีทรัพย์สินย้อนหลัง "ผบก.ทล." ทุกคน
"วิโรจน์" เปิดข้อมูลส่วยสติกเกอร์ อ้างเงินสะพัดเกือบ 20,000 ล้านต่อปี