"ไทย" เข้าร่วมซ้อมรบ "Aman Youyi-2023"
กองบัญชาการยุทธบริเวณภาคใต้ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) เปิดเผยว่า ผู้แทน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ไทยและเวียดนาม ได้เข้าร่วมการประชุมวางแผนซ้อมรบที่นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 22-26 พ.ค.ที่ผ่านมา
ที่ประชุมได้บรรลุฉันทามติร่วมกันในหลายประเด็น ตั้งแต่ประเด็นหลัก วันและเวลา สถานที่ ไปจนถึงรูปแบบของการซ้อมรบร่วมช่วงปลายปีนี้ แม้ว่าการให้ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ระบุเวลาชัดเจน แต่ Radio Free Asia รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า การซ้อมรบจะจัดเดือน พ.ย.นี้ โดยการซ้อมรบ Aman Youyi ในปีนี้มีประเทศเข้าร่วมมากขึ้น โดยเวียดนาม ลาวและกัมพูชาได้ส่งกำลังพลเข้าร่วมการซ้อมรบเป็นครั้งแรก
ขณะที่ Global Times สื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่า การซ้อมรบครั้งนี้จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้ความมั่นคงในภูมิภาค ขณะที่สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ล้วนแสดงพฤติกรรมไม่เป็นมิตรจากการซ้อมรบ เพื่อคุกคามอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่นๆ
จีน : ผู้เล่นหน้าใหม่ในสนามการทูตทหาร
Collin Koh นักวิชาการจากสถาบันต่างประเทศ S. Rajaratnam ในสิงคโปร์ ระบุว่า จีนต้องการมีส่วนร่วมทางการทหารให้เทียบเท่ากับการมีส่วมร่วมทางการทหารของสหรัฐฯ มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมีสถานภาพเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในสนามการทูตด้านการทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากระดับการมีส่วนร่วมยังห่างชั้นจากสหรัฐฯ อยู่มาก แม้ว่าจะเริ่มเดินเกมรุกมากขึ้นผ่านการซ้อมรบกับสมาชิกอาเซียน ระยะหลังสะท้อนให้เห็นจากการซ้อมรบร่วม Friendship Shield 2023 ระหว่างจีนกับลาวและการซ้อมรบร่วม Golden Dragon 2023 ระหว่างจีนกับกัมพูชาที่ จ.กำปงชนัง แต่กำลังพลที่เข้าร่วมยังอยู่ในหลักร้อยปลายๆ เท่านั้น
ขณะที่การซ้อมรบร่วม Balikatan 2023 ระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีทหารเข้าร่วมการฝึกไม่ต่ำกว่า 17,600 นาย ถือเป็นการซ้อมรบร่วมประจำปีขนาดใหญ่ที่สุดในรอบ 38 ปีของทั้ง 2 ประเทศ หรือเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา การซ้อมรบร่วม Cobra Gold 2023 ที่นำโดยสหรัฐฯ และจัดในไทย มีทหารจากไทย สหรัฐฯ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เข้าร่วมกว่า 7,000 นาย นอกจากนี้ยังมีประเทศผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมอีกไม่ต่ำกว่า 20 ประเทศ
อาเซียนรักษาสมดุล-ชูความเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์
Koh ระบุว่า ท่าทีของอาเซียนในการร่วมฝึกซ้อมทางทหารกับจีน ไม่ได้แสดงให้เห็นความเต็มใจให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมในมิติด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสะท้อนความปรารถนาของอาเซียนในการชูนโยบายความเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Autonomy) โดยการซ้อมรบ Aman Youyi มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์สำหรับประเทศในภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก แม้ว่าวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมการฝึกอาจแตกต่างไปจากจีนก็ตาม
แปล-เรียบเรียง : พงศธัช สุขพงษ์
อ่านข่าวอื่นๆ
กฎใหม่ "Air New Zealand" ให้ผู้โดยสารชั่งน้ำหนักก่อนขึ้นบิน
รับวันงดสูบบุหรี่โลก "สวีเดน" มุ่งหน้าสู่สถานะประเทศปลอดบุหรี่