ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินค่าเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ต่อให้พวกเราพยายามอย่างสุดแรงแล้วก็ยังยากที่มนุษย์จะปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้
นี่ไม่ใช่คำเตือนอีกต่อไป ไม่ใช่แค่ภาพจำจากภาพยนตร์ และไม่ใช่ความรู้สึกที่มนุษยชาติจะเพิกเฉยต่อสิ่งที่ขยับใกล้ตัว แต่เป็นคำยืนยันจากรายงานฉบับที่ 6 ในปี 2022 ของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้การทำงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
คีย์แมสเซส ที่นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่โลกจะร้อน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 2030-2040 ทำให้ข้อตกลงปารีสที่เรียกร้องให้นานาประเทศประกาศตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายใน2050 เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5- 2 องศาเซลเซียส แต่ข้อเท็จจริงคืออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ประเมินเอลนีโญไทยอาจลากยาว 19 เดือน
ปี 2022 เป็นปีที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงทุบสถิติ ทั้งที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาถึง 3 ปีติดต่อกัน
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ พร้อมฉายให้เห็นภาพที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน แบบไม่ทันตั้งตัว
รายงานจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) พบว่าในเดือน ม.ค.และเดือน เม.ย.ของปีนี้ อุณหภูมิโลกสูงมากขึ้นเป็นอันดับ 1 เกินค่าเฉลี่ยปกติในรอบ 174 ปี เพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 องศาเซลเซียส มากกว่าปี 2000 ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น +0.34 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่า “โลกของเราร้อนขึ้นมากกว่าเดิม”
โลกร้อน “เอลนีโญ” รุนแรงครั้งที่ 6 ในรอบ 73 ปี
โลกร้อน “เอลนีโญ” รุนแรงครั้งที่ 6 ในรอบ 73 ปี
ผู้เชี่ยวชาญภาวะโลกร้อน มก. บอกถึงปัจจัยเร่งของภาวะโลกร้อน ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการที่นักวิทยาศาสตร์ เจาะแกนน้ำแข็งของโลกย้อนหลังกลับไป 800,000 ปี ตอนนั้นความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่เกิน 300 ส่วนต่อล้านส่วน
แต่ตอนนี้อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลกพุ่งสูงถึง 422 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหมือนกับผ้าห่มปกคลุมโลกไว้ในชั้นบรรยากาศ เมื่อนานมากขึ้นจะดักจับความร้อนจากดวงอาทิตย์ทำให้โลกอุ่นขึ้น
เขาย้ำว่า หลักฐานที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ปกตินัก เพราะโลกเพิ่งเผชิญกับลานีญา 3 ปีติดๆ กัน ซึ่งแม้จะทำให้มีปริมาณฝนมาก แต่กลับพบความร้อนแบบสุดเหวี่ยงในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นแรงเหวี่ยงที่รุนแรง
ทำให้ปีนี้ ทั่วโลกกำลังเผชิญ “เอลนีโญ” ครั้งรุนแรงอีกครั้งในรอบ 73 ปี และถือเป็นครั้งที่ 6 นับจากปี 1950-2023 ข้อมูลของ NOAA พบเส้นกราฟเอล นีโญกำลังรุนแรงเชิดหัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ระดับรุนแรงมากกว่า 1.5 – 2 องศาเซลเซียส มีความน่าจะเป็น 54% ในช่วงพ.ย.2566-ม.ค.2567 สอดคล้องกับความน่าจะเป็นที่ Met Office (UK) คาดว่ากำลังของเอลนีโญ ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับรุนแรงทะลุ 90%
โลกร้อน “เอลนีโญ” รุนแรงครั้งที่ 6 ในรอบ 73 ปี
เขาบอกว่า หลักการถ้าค่าเอลนีโญเกิน 2 องศาเซลเซียสเรียกว่ารุนแรงมาก แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 1.5-2 องศาเซลเซียส เรียกว่ารุนแรง แต่สำหรับปีนี้ จากแบบจำลองเรากำลังเผชิญเอลนีโญรุนแรงตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย.ปีนี้ ปกติเอลนีโญ จะอยู่สั้นสุดราว 8 เดือน แต่ถ้ายาว 19 เดือนหรือ 2 ปี
แบบจำลองคาดการณ์เอลนีโญจะรุนแรงมาก ถ้าย้อนสถิติกำลังของ เอลนีโญจากปี 1950 -2023 หรือ 73 ปี ยอดของเอลนีโญที่เกิน 2 องศาเซลเซียสเกิดแค่ 5 ครั้ง และรอบนี้จะเป็นครั้งที่ 6
น้ำน้อย-ฝนแล้ง-อุณหภูมิสูง พื้นที่เกษตร
รศ.ดร.วิษณุ บอกอีกว่า ในรอบ 73 ปีเกิดเอลนีโญรุนแรง 5 ครั้งปกติค่าเฉลี่ย เอลนีโญ 2-5 ครั้งต่อปี แต่จะมีความถี่ที่ไม่แน่นอน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเอลนีโญจะมาถี่ขึ้น และอุณหภูมิอาจจะยกกำลังเพิ่มขึ้น หมายถึงมาพร้อมกับความร้อน แล้ง และเผชิญกับคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ อินเดีย
ทุกครั้งที่เป็นปีเอลนีโญ อุณภูมิโลกจะทำสถิติสูงสุดใหม่ ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าจากปลายปีนี้ถึงปี 2567 อุณหภูมิของโลกจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงศตวรรษที่ 21 คือแตะมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หมายความว่าจะเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องรอจนสนธิสัญญาปารีส
ขณะที่ผลกระทบจากเอลนีโญรุนแรง นักวิชาการโลกร้อน บอกว่า จากพลังของลานิญา 3 ปีติด และกลับมาเป็นเอลนีโญแบบรุนแรง จึงน่ากังวลถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าหากเทียบเอลนีโญปีนี้ น่าจะสูสีกับปี 2559 ซึ่งเกิดมหาภัยแล้งรุนแรง เพราะลากยาวจากปลายปี 2558-59 เพราะชนช่วง 2 ฤดูแล้งจนน้ำเริ่มหมด
แบบจำลองเชิงพื้นที่ปี 2567 ภาคใต้เสี่ยงขาดแคลนน้ำสุด ต้องระวังฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนของภาคใต้ เพราะเอลนีโญจะยกกำลังสูงสุดในเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้
“ภาคใต้” เสี่ยงสุด ฝนทิ้งช่วงปลายปี
นักวิชาการ บอกว่า จากแบบจำลองของฝั่งสหราชอาณาจักร ปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับฝนในไทย ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค. และอุณหภูมิจะร้อนกว่าค่าเฉลี่ยปกติในช่วงหน้าร้อน
ขณะที่ NOAA ระบุว่า จะร้อนและแล้งเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จะมีความเสี่ยงมากกว่าทางภูมิภาคอื่น สอดคล้องกับการประเมินค่าเฉลี่ยฝน ที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์จะน้อยกว่า 5% ในปีนี้
แบบจำลองเชิงพื้นที่พบว่า ภาคใต้เสี่ยงขาดแคลนน้ำสุด ต้องระวังฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนของภาคใต้ เพราะเอลนีโญจะยกกำลังสูงสุดในเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ รองลงมาภาคอีสาน ระบบชลประทานน้อย และมีพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานที่เข้าถึงแหล่งน้ำในระดับครัวเรือนแค่ 26 % ส่วน 74% ยังเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ
รศ.ดร.วิษณุ ชี้ว่า เกษตรกร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงในลำดับแรก เพราะ 80% ยังเป็นระบบเกษตรที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำ ดังนั้นกรมชลประทาน ต้องจัดสรรน้ำและรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ควบคุมพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม เพราะถ้ามองย้อนในประวัติศาสตรเอลนิโญ ไม่ได้เกิดแค่ช่วงเวลาสั้นๆ หากลากยาว 2 ปี หากกรมชลประทานไม่จัดสรรน้ำ ความเสี่ยงจะสูง ความเสียหายจะหนักมาก ซึ่งยังไม่รวมภาคอุตสาหกรรม
สภาพพื้นที่นาข้าว อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เลื่อนหว่านข้าวเพราะเริ่มขาดแคลนน้ำ
คาดการณ์ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ จากภาวะโลกร้อนอีก 22 ปีข้างหน้า มูลค่าความเสียหายสะสม 600,000-2.85 ล้านล้านบาท เฉลี่ยปีละ 83,000 ล้านบาท เฉพาะในภาคเกษตร นั่นหมายถึงจีดีพีก็จะหดตัวลงจากผลผลิตเกษตรที่ส่งออกได้น้อย
นักวิชาการโลกร้อน เสนอว่า ทางออกสำหรับเอลนีโญปีนี้ พื้นที่นอกเขตชล ประทาน เกษตรกรต้องเก็บน้ำให้มากสุด เพื่อฝ่าแล้งหน้าที่จะมาถึงรุนแรง ส่งเสริมทำบ่อจิ๋ว ส่วนแหล่งน้ำสาธารณะ คู คลอง ต้องเพิ่มศักยภาพไม่ให้ตื้นเขิน และลดการทำนาปรัง และปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นต้น
เพราะถึงเวลาที่ทุกคนต้องปรับตัวกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถเรียกคืนอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้คนรุ่นอนาคตเผชิญภัย จากภาวะโลกร้อนให้น้อยลงจากคนรุ่นปัจจุบัน
"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :