วันนี้ (9 มิ.ย.2566) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคทางเดินอาหารและน้ำใน จ.ภูเก็ต หลังพบมีผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 6-8 มิ.ย. เข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐแต่ละแห่งเฉลี่ย 50 คนต่อวัน โรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 100 คนต่อวัน กระจายหลายกลุ่มอายุ หลายพื้นที่ทั้ง อ.อำเภอเมือง อ.กะทู้ และ อ.ถลาง รวมทั้งพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสียและบางคนมีไข้ แต่ไม่พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ทั้งประวัติอาหารและความเชื่อมโยง เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างจากน้ำแข็ง น้ำใช้ อาเจียนและอุจจาระผู้ป่วย เพื่อส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผล
อ่านข่าว : "โรคอุจจาระร่วง" กระจายทั่วภูเก็ต ผู้ป่วยเด็ก-ผู้ใหญ่ วันละ 100 คน
นพ.กิตติศักดิ์ ระบุว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ส่งเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัยสถานที่ผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็ง ในเขต ต.วิชิต และ ต.ฉลอง เพื่อตรวจสอบกระบวนการฆ่าเชื้อและการควบคุมกระบวนการผลิต และกวดขันผู้ประกอบการควบคุมไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในขั้นตอนการขนส่งน้ำแข็ง
พร้อมเฝ้าระวังมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารในร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร ตลาดสด ตลาดนัดและอาหารริมบาทวิถี และแนะประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) โรคอุจจาระร่วง วางแผนการควบคุมการระบาดร่วมกับกองระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ทีมสอบสวนควบคุมโรค จ.ภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินมาตรฐานและเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานน้ำดื่ม น้ำแข็ง และตรวจเยี่ยมโรงเรียนที่พบผู้ป่วย เพื่อค้นหานักเรียนที่ป่วยเพิ่มเติม รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ อาหารและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีความเสี่ยงต่อการก่อโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กให้ชัวร์! อาการ สาเหตุ การดูแลตัวเองเบื้องต้น "โรคอุจจาระร่วง"