ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สิ้น "หลวงปู่เอี่ยม" พระราชวัชรรังษี เจ้าตำรับหนังสือ "มนต์พิธี"

สังคม
9 มิ.ย. 66
16:22
6,157
Logo Thai PBS
สิ้น "หลวงปู่เอี่ยม" พระราชวัชรรังษี เจ้าตำรับหนังสือ "มนต์พิธี"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วงการพุทธศาสนาสูญเสียบุคคลสำคัญ พระราชวัชรรังษี หรือ หลวงปู่เอี่ยม เจ้าตำรับหนังสือ "มนต์พิธี" หนังสือสวดมนต์สำหรับพระภิกษุและพุทธศาสนิกชน มรณภาพด้วยอาการสงบ สิริอายุ 89 ปี พรรษา 69 โดยมีศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนเข้ามาแสดงความอาลัยเป็นจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2566 เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความ #น้อมถวายความอาลัย พระเดชพระคุณพระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) ต้นตำหรับมนต์พิธี 

เวลา 21.00 น. คณะแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ แจ้งว่า หลวงปู่พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) ได้หยุดหายใจและอาการทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่งเวลา 22.15 น. หลวงปู่ไม่ตอบสนองอาการและได้มรณภาพด้วยอาการสงบ น้อมส่งหลวงปู่สู่พระนิพพาน

FB : ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

FB : ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

FB : ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

ประวัติ พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สุภราช)

พระราชวัชรรังษี (เอี่ยม สิริวณฺโณ) หรือ หลวงปู่เอี่ยม นามเดิม เอี่ยม สุภราช เกิดวันที่ 1 ก.ย.2476 ที่บ้านพังตรุ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีพี่น้อง 5 คน

เป็นพระราชาคณะชั้นราช ผู้เป็นภิกษุที่แต่งหนังสือสวดมนต์ มนต์พิธี ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมพระพุทธมนต์ ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นที่นิยมสำหรับภิกษุและสามเณรผู้เตรียมตัวบวช ตลอดจนพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย

ขณะเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บิดาเสียชีวิต ประกอบกับมีอาการป่วย มารดาจึงอธิษฐานว่า "ถ้าหายจะให้บวช 7 วัน" แต่เมื่อถึงชั้นประถมศึกษาที่ 4 มารดาเสียชีวิต

ต่อมาเมื่ออายุ 17 ปี ได้แจ้งความประสงค์กับยายบวชเป็นสามเณร ที่วัดสาลวนาราม (ดอนตาเพชร) อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และปี 2494 สอบได้นักธรรมชั้นตรีถึงนักธรรมชั้นโท และสำเร็จนักธรรมชั้นเอก ในอีก 2 ปีต่อมา 

แต่งหนังสือ "มนต์พิธี" 

ปี 2513 พระเสวย พุทฺธเทโว เป็นภิกษุบวชใหม่มีความสนใจในหนังสือสวดมนต์ แต่ไม่เป็นที่น่าปรารถนา จึงชักชวน "พระเอี่ยม" แต่งหนังสือสวดมนต์ โดยพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 1,000 เล่ม ถวายภิกษุใน จ.ชลบุรี

ต่อมาจึงมีรวบรวมพระพุทธมนต์ พระคาถา และ คำที่ใช้ในพิธีกรรม โดยหนังสือมีชื่อว่า สวดมนต์และศาสนพิธี พิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม โดยเป็นที่นิยมในภิกษุและพุทธศาสนิกชนใน จ.ชลบุรี

ปี 2515 หนังสือเป็นที่นิยมอย่างมากในภิกษุและพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น มนต์พิธี มีพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เป็นผู้เขียนคำนำ 

ปี 2520 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองเหียง และ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บำรุง จ.ชลบุรี

ปี 2523 ย้ายกลับมาพำนักที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ปี 2529 เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดประดู่ในทรงธรรม

วันที่ 5 ธ.ค.2534 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามว่า พระครูอรุณธรรมรังษี

ต่อมา วันที่ 5 ธ.ค.2549 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

วันที่ 20 มิ.ย.2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์เป็น พระราชวัชรรังษี มีฐานานุศักดิ์ ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ พระครูสมุห์ และพระครูใบฎีกา 

รู้จักหนังสือ "มนต์พิธี"

หนังสือมนต์พิธี เป็นหนังสือสำหรับพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป รวบรวมและจัดทำขึ้นโดย "พระครูสมุห์เอี่ยม สิริวณฺโณ" ช่วยให้การสวดมนต์สะดวกขึ้น มีการเรียงลำดับบทสวดมนต์ที่สะดวก ทั้งบทสวดในงานที่เป็นมงคลและอวมงคล เป็นที่นิยมของพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนทั่วไป มี 4 ส่วน

FB : ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

FB : ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

FB : ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา

  1. ว่าด้วยเรื่องบทสวดสรรเสริญ "พระพุทธเจ้า"
  2. ว่าด้วยเรื่องบทเจริญพระพุทธมนต์ในงานมงคล และบทสวดในงานอวมงคล
  3. ว่าด้วยเรื่องพิธีสังฆกรรมต่างๆสำหรับพระภิกษุสงฆ์
  4. ว่าด้วยเรื่องบทกล่าวทำพิธีต่าง ๆ สำหรับฆราวาส เป็นส่วนที่มีคำกล่าวต่างๆ ที่คฤหัสถ์ ต้องท่องจำให้ได้
...และมาบัดนี้ อาตมภาพก็เข้าสู่วัยชราตามกาลเวลา อยากจะรักษาหนังสือมนต์พิธีนี้ไว้ให้อยู่คู่กับวงการพระศาสนา วงการสงฆ์ พร้อมทั้งสาธุชนทั่วไป... 
พระครูอรุณธรรมรังษี 3 มี.ค.2560
ข่าวที่เกี่ยวข้อง