บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) แสดงความกังวลปัญหาหนี้เสียที่ส่งสัญญาญชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหนี้เสียในประเภทรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม GEN Y พบว่า ใช้วิธีผ่อนค่างวดรถแบบเลี้ยงหนี้ หรือค้างค่างวดรถ 1-2 งวด และกลับมาชำระ 1 งวด เพื่อเลี้ยงหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสียจนถูกยึดรถ
ไตรมาสแรกปี 2566 กลุ่ม GEN Y มีสัญญาที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 600,000 บัญชี แต่ 50% หรือ 350,000 บัญชี เป็นกลุ่มที่จ่ายค่างวดเลี้ยงหนี้มากที่สุด ขณะที่กลุ่ม GEN X มีจำนวน 400,000 บัญชี โดย 50% หรือ 200,000 บัญชี เป็นหนี้เสียแล้ว
ดังนั้น เครดิตบูโร ประเมินว่า ตัวเลขของทั้ง 2 กลุ่ม GEN มีความเสี่ยงว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้า จะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1,000,000 คัน
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ตรวจสอบรถยนต์ที่ไหลเข้าสู่ลานประมูลของบริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) เป็นบริษัทประมูลรถรายใหญ่ย่านปทุมธานี พบว่า เฉลี่ยเดือนละ 4,000-5,000 คัน โดย 70% เป็นรถที่ถูกยึดมาจากลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ทำมาค้าขาย รถที่นำมาประมูลส่วนใหญ่จึงเป็นรถกระบะที่มักใช้ประกอบธุรกิจ
นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ประเทศไทย) ระบุว่า สถานการณ์ยึดรถเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนละ 20,000 คัน ทำให้ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 รถทั้งระบบถูกไฟแนนซ์ยึดรถแล้วราว 100,000 คัน เป็นระดับที่ใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะหลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ แต่รายได้ลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวและยังมีปัญหาหนี้สินรุงรัง จนทำให้ผ่อนรถต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้เสีย
โดยเฉพาะกลุ่ม GEN Y ที่หันมาประกอบอาชีพอิสระ สตาร์ทอัพ และเข้าถึงสินเชื่อรถยนต์ได้ง่าย จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง และคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีรถที่ถูกยึดเพิ่มขึ้น 10-15% หรือกว่า 300,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดที่ราว 200,000 คัน แต่คงไม่ถึง 1,000,0000 คันตามข้อมูลของเครดิตบูโร
ประเด็นนี้สร้างความกังกวลให้กับผู้ประกอบการเต็นท์รถ นายภิญโญ ธนวัชรภรณ์ ผู้บริหารโยรัชดา และอดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ยอมรับว่า กังวลว่าปัญหาหนี้เสียจะกระทบต่อธุรกิจเต็นท์รถ เพราะหากธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อรถ จะทำให้รถขายออกยาก
ปัจจุบันมีผู้ขอสินเชื่อถูกปฎิเสธสินเชื่อแล้ว 50% จากผู้ที่ขอสินเชื่อ 100 คน และส่วนใหญ่มีอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ จะเป็นกลุ่มที่ถูกปฎิเสธสินเชื่อเป็นกลุ่มแรก
ภิญโญ ธนวัชรภรณ์ อดีตนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว
ปัญหาหนี้ครัวเรือน คงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องหาทางรับมือ และคงไม่ใช่แค่ลูกหนี้ในกลุ่มรถยนต์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสินเชื่ออื่นๆ ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท.ไม่นิ่งนอนใจและได้หารือกับสถาบันการเงิน เพื่อขอความร่วมมือดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุนการเงินและภาระหนี้ครัวเรือนของประชาชน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้
ด้านนายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ยืนยันว่า สถานการณ์การชำระหนี้ของประชาชนเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการค้างชำระหนี้ 1-2 เดือนยังไม่ได้เห็นสัญญาณสูงขึ้นมาก ซึ่งบริษัทยังสามารถบริหารและควบคุมระดับหนี้เสียให้อยู่ระดับต่ำราว 1.9%
ส่วนปี 2567 ที่จะเข้าสู่การปรับอัตราขั้นต่ำการผ่อนชำระจะสูงขึ้น 8% จากเดิม 5% ของวงเงินหนี้ ซึ่งต้องติดตามการชำระหนี้อีกครั้ง แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ก็จะไม่กระทบต่อภาระหนี้ของประชาชน
ปัจจัยเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือนนใมุมมองของ น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 แต่ในปี 2567 หากมาตรการพักชำระหนี้ทยอยสิ้นสุดลงแล้ว เชื่อว่า ธปท.จะหาทางรับมือเพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้จ่ายและบริโภค รวมถึงการฟื้นตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี
ดังนั้น จะเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อวางนโยบายแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคและเอกชน หากยังปล่อยให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป 1-6 เดือน เสี่ยงที่นักลงทุนจะทิ้งไทย จากการใช้งบประมาณสะดุดลง
อ่านข่าวอื่นๆ
ห่วงหนี้รถยนต์พุ่ง หลังหมดมาตรการลดผลกระทบโควิด
"อีซูซุ" ปฏิเสธข่าวย้ายฐานการผลิตจากไทยไป "อินโดนีเซีย"
ผลหารือ "คีรี" มั่นใจกทม.จ่ายหนี้ BTS สายสีเขียวก้อนแรก 2 หมื่นล้าน