ฝุ่นควันที่ปกคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ติดต่อกันเป็นเวลานาน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และระบบเศรษฐกิจของจังหวัดอย่างหนัก
เป็นหนึ่งในปัญหาที่ ณัฐกร วิฑิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะขาดความต่อเนื่องในการแก้ไข
ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง มักจะถูกโยกย้ายนอกฤดูกาล หรือที่เรียกว่าย้ายการเมือง บางคนอยู่แค่ 1 ปีหรือ 2 ปี ก็ถูกย้าย ทำให้การแก้ปัญหาทำไม่ได้หรือทำไม่ได้ต่อเนื่อง
นอกจากนั้นยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เหลืออายุราชการไม่มากนัก ย้ายมาเพื่อรอเกษียณ ทำให้การแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ หลายอย่างขาดความต่อเนื่อง นอกจากนั้นการทำงานระหว่างหน่วยงานจังหวัด กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ที่ทับซ้อนกันทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ
ควรมีการควบรวมให้เหลือองค์กรท้องถิ่นระดับจังหวัด เพียงหน่วยงานเดียว เพื่อลดขั้นตอนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ชำนาญ จันทร์เรือง แกนนำเครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง ระบุว่า การขับเคลื่อนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือ จังหวัดจัดการตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 โดยภาคประชาชน, ภาคประชาสังคม, นักวิชาการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันผลักดันนโยบาย ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน
โดยมีจุดหมาย คือ ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงส่วนกลาง และท้องถิ่น ยกเว้น ทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และ ศาล ให้คงเอาไว้ที่ส่วนกลาง, ทำให้ระบบการตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ, ปรับโครงสร้างภาษี ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บเอง ตามกฎหมาย และเกิดการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การขับเคลื่อนได้ยุตติลง จนกระทั่ง ปี 2566 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จึงได้มีการนำเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กลับมาสานต่อ และมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพรรคก้าวไกลใช้เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค จนได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศ
แต่ขั้นตอนสำคัญที่สุด คือ การทำประชามติ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ คณะรัฐมนตรีจะมีการวางแผนการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะเป็นรูปธรรมได้ในปี 2568 จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการทำงานเปลี่ยนถ่ายโอนหน้าที่ภูมิภาคเดิมเป็นของท้องถิ่น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาดำเนินการ 3-5 ปี
ขณะที่ประชาชนใน จ.เชียงใหม่ มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยที่เห็นด้วยอย่างนายจักรกฤช คมวิศวศาสตร์ ชาวบ้านในอำเภอเมือง บอกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มาจากการเลือกตั้ง จากประชาชนจะรับรู้ปัญหา และใกล้ชิดกับประชาชน ตลอดจนประชาชนเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนั้นการจัดสรรงบประมาณ และการแก้ปัญหาต่างๆ จะเกิดความรวดเร็วกว่า
ขณะที่ นายวีระพงษ์ วีระกษิตศรีวิชัย บอกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่แต่งตั้งมาจากส่วนกลางจะทำงานสอดคล้อง สนองนโยบายจากส่วนกลาง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีกว่า และหากมีการการะจายอำนาจหรือเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เชื่อว่าจะมีการทุจริตคอรัปชันเกิดขึ้น