ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

20 มิ.ย. วันผู้ลี้ภัยโลก World Refugees Day

ไลฟ์สไตล์
16 มิ.ย. 66
20:41
1,218
Logo Thai PBS
20 มิ.ย. วันผู้ลี้ภัยโลก World Refugees Day
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"วันผู้ลี้ภัยโลก" ตรงกับวันที่ 20 มิ.ย.ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อระลึกถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญของผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศบ้านเกิดจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร

วันผู้ลี้ภัยโลก เป็นโอกาสให้ระลึกถึงความเข้มแข็งในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งของผู้ลี้ภัย แม้ต้องสูญเสียทุกอย่าง รวมถึงยังเป็นโอกาสในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์ของพวกเขาและการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คนจากทั่วโลกด้วยความเมตตา สำหรับปี 2566 นี้ เป้าหมายของวันผู้ลี้ภัยโลก คือ

แม้อยู่ไกลบ้าน แต่ยังมีหวัง โลกที่รวมผู้ลี้ภัยอยู่ด้วยเสมอ

การรวมผู้ลี้ภัยอยู่ในชุมชนที่พวกเขาได้พบกับความปลอดภัยอีกครั้ง หลังต้องหนีจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร เป็นหนึ่งในการสนับสนุนผู้ลี้ภัยให้สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ และทำให้พวกเขาสามารถตอบแทนชุมชนที่ให้ที่พักพิงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นับเป็นทางที่ดีที่สุดที่ช่วยเตรียมความพร้อมแก่ผู้ลี้ภัย ในการเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยและด้วยความสมัครใจ และเพื่อฟื้นฟูประเทศของพวกเขาเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยให้เดินทางกลับบ้านได้ หรือในวันที่พวกเขาสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่น

ใครคือ "ผู้ลี้ภัย"

คนที่หนีออกจากบ้านและประเทศของตนเนื่องจาก "ความกลัวถูกประหัตประหารเนื่องจากเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ การเป็นสมาชิกในกลุ่มสังคมใดกลุ่มหนึ่ง หรือความคิดเห็นทางการเมือง" ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ อนุสัญญาผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ต้องเดินทางออกจากที่อยู่อาศัย เพื่อหลบหนีผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือจากฝีมือมนุษย์

5 เหตุผล ผู้ลี้ภัย ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

แอมนาสตี้เปิดเหตุผล 5 ข้อที่ผู้ลี้ภัยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดและเข้าใจกัน

  1. ผู้ลี้ภัยคือคนธรรมดา พวกเขาเคยมีหลายๆ อย่างเหมือนที่ "คนทั่วไป" มี เพียงแต่สถานการณ์ต่างๆ บีบบังคับให้พวกเขาต้องทิ้งชีวิตและต้องหนีออกจากประเทศเพื่อความอยู่รอดของชีวิตตนเองและครอบครัว 

  2. ผู้ลี้ภัยคือหนึ่งในทรัพยกรมนุษย์ที่มีศักยภาพ เช่น ผู้ลี้ภัยจากประเทศซีเรีย มีทั้ง หมอ ทนายความ วิศวกร ครูและอีกหลายอาชีพที่เป็นประโยชน์ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความมุ่งมั่นและมีความอดทนเป็นอย่างมากในการทำงาน เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

  3. ผู้ลี้ภัยไม่ได้มาแย่งงานแต่ผลักดันการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์เรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานระบุว่า การที่มีผู้ลี้ภัยมากขึ้นในตลาดแรงงาน ไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อคนในประเทศนั้นๆ เพราะว่าคนในประเทศนั้นกับผู้ลี้ภัย มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสมกับงานที่แตกต่างกัน 

  4. การรับผู้ลี้ภัยไม่กระทบต่อการใช้เงินภาษีของคนในประเทศ การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไม่ได้พึ่งพาภาษีคนของในประเทศมากมาย เพราะมีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR หรือ Red Cross ที่ให้เงินสนับสนุนประเทศที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

  5. ผู้ลี้ภัยช่วยสร้างสังคมที่เห็น "ความเป็นมนุษย์" ของกันและกัน  วิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลกในขณะนี้อาจทำให้พวกเราหันกลับมามอง "ความเป็นมนุษย์" ของเพื่อนร่วมโลกมากยิ่งขึ้น แทนที่จะนำความแตกต่างภายนอกมาแบ่งแยกและลดทอนความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน 

ผู้ลี้ภัยยังแบ่งสถานะออกเป็น 4 สถานะ ได้แก่

ผู้ขอลี้ภัย พวกเขาเป็นผู้ลี้ภัยและได้หนีออกจากบ้าน แต่การอ้างสิทธิในสถานะผู้ลี้ภัย ยังไม่ได้รับการประเมินที่แน่ชัดในประเทศที่พวกเขาเดินทางเข้าไปอาศัย

ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ คือบุคคลที่ไม่ได้ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ แต่ได้ย้ายไปยังภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่ภูมิภาคบ้านเกิดตนเอง

บุคคลไร้สัญชาติ บุคคลที่ไม่มีสัญชาติเป็นที่ยอมรับ และไม่ได้เป็นสมาชิกของประเทศใด สถานการณ์การไร้สัญชาติมักเกิดจากการเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม เพราะไม่มีเอกสารระบุตัวตน, ใบรับรองการเป็นพลเมือง ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ รวมถึงการดูแลสุขภาพ การศึกษา หรือการจ้างงานได้

ผู้กลับมา คืออดีตผู้ลี้ภัยที่กลับไปยังประเทศหรือภูมิภาคต้นทางของตนเอง หลังจากถูกเนรเทศเป็นเวลานาน ผู้เดินทางกลับ ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและความช่วยเหลือ ในการกลับคืนสู่สังคมเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถสร้างชีวิตใหม่ในสถานที่เดิมได้

สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำยอดผู้ลี้ภัยเพิ่ม 19 ล้านคน

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจาก UNHCR ประเทศไทย ณ วันที่ 31 พ.ค.2566 มีผู้ลี้ภัยประมาณ 96,000 คน หนีจากความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก

รายงานประจำปี และรายงานแนวโน้มผู้พลัดถิ่นทั่วโลกของ UNHCR ปี 2565 พบว่าจำนวนผู้พลัดถิ่นจากสงคราม การประหัตประหาร ความรุนแรง และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ที่ 108 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ 19 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สงครามในยูเครนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการพลัดถิ่น นับเป็นการลี้ภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ที่มา : UN, UNHCR

ข่าวที่เกี่ยวข้อง