วิเคราะห์ : ถอดนัย "บลิงเคน" หารือ "สี จิ้นผิง"

ต่างประเทศ
20 มิ.ย. 66
12:31
312
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : ถอดนัย "บลิงเคน" หารือ "สี จิ้นผิง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปิดฉากไปแล้วสำหรับการเดินทางเยือนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจ ที่ตกต่ำถึงขีดสุด เรียกได้ว่าการเยือนรอบนี้ประสบความสำเร็จ เพราะบลิงเคนได้คุยกับผู้นำจีนโดยตรง

ตลอด 2 วันที่ผ่านมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไปเจอตั้งแต่ ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่คุยกันนานถึง 7 ชั่วโมงครึ่งและให้คำมั่นว่า จะไปเยือนสหรัฐฯ หลังจากนี้ รวมทั้ง หวัง อี้ นักการทูตเบอร์ 1 ซึ่งเคยปะทะคารมกับบลิงเคนในการประชุมทวิภาคีที่อะแลสกาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ที่เรียกความสนใจได้มากที่สุด หนีไม่พ้น การเข้าพบกับสี จิ้นผิง ซึ่งมีการเปิดเผยก่อนเริ่มประชุมเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ผู้นำจีนจับมือต้อนรับบลิงเคน ซึ่งกลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนแรกที่ได้เข้าพบประธานาธิบดีจีนนับตั้งแต่ปี 2018 โดย ปธน.สี เปิดการประชุมด้วยการกล่าว ชื่นชมทั้ง 2 ฝ่ายที่สามารถพูดคุย และบรรลุข้อตกลงร่วมกันในบางประเด็นได้ พร้อมทั้งแสดงความหวังว่า บลิงเคนและการเยือนครั้งนี้ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีเสถียรภาพและอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและจริงใจต่อกัน

อ่านข่าวอื่น : เร่งค้นหา "เรือดำน้ำ" พาเที่ยวชมซากไททานิก สูญหายใต้ทะเล

การพูดคุยใช้เวลาประมาณ 35 นาที ก่อนที่บลิงเคนจะแถลงสรุปผลการเยือน โดยระบุว่าการหารือครั้งนี้ตรงไปตรงมา คุยกันทุกเรื่องตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจีนให้คำมั่นว่าจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย ไปจนถึงความกังวลใจของสหรัฐฯ ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ทิเบตและฮ่องกง

ขณะที่ประเด็นไต้หวัน จริงๆ แล้วร้อนแรงมาตั้งแต่การประชุมกับ หวัง อี้ โดยจีนชี้ว่าไม่มีพื้นที่สำหรับการประนีประนอมในประเด็นนี้ ซึ่งฝั่งสหรัฐฯ เองก็ย้ำว่าไม่สนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวันและไม่ได้ต้องการเปลี่ยนสถานะที่เป็นอยู่ แต่ก็เตือนถึงการกระทำยั่วยุของจีนในช่องแคบไต้หวันด้วย

แม้การเยือนในครั้งนี้จะไม่ได้ออกดอกออกผลให้เราเห็นได้ในทันที แต่ถือว่าประสบความสำเร็จในการเปิดพื้นที่พูดคุยสื่อสารกันระหว่างสองมหาอำนาจโลก หลังจากล่าช้ามานานหลายเดือน

จริงๆ แล้ว สหรัฐฯ และจีน คุยถึงการส่งบลิงเคนเยือนกรุงปักกิ่งตั้งแต่ตอนที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศนั่งโต๊ะหารือในการประชุมคู่ขนานเวที G20 ที่บาหลีเมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว ก่อนที่รอง ปธน.คามาลา แฮร์รีส จะได้พบกับผู้นำจีนในช่วงเวลาสั้นๆ ตอนที่บ้านเราเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC

แต่ความหวังที่จะได้เห็นความสัมพันธ์ของ 2 ชาติเริ่มกลับเข้าที่เข้าทางต้องพังทลายลง หลังจากช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐฯ พบบอลลูน ซึ่งระบุว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีนที่เข้ามาเก็บข้อมูลทางทหาร ทำให้บลิงเคนยกเลิกการเยือนจีนกะทันหัน เพียงไม่กี่วันก่อนออกเดินทาง ก่อนที่ผู้นำสหรัฐฯ จะสั่งยิงบอลลูนตกนอกชายฝั่งเซาท์ แคโรไลนา แต่บอลลูนไม่ใช่เรื่องขัดแย้งเพียงเรื่องเดียว

ภาพโดมที่ชาวบ้านในหมู่บ้านทางตะวันตกของคิวบาตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่ดังกล่าวอาจเป็นฐานลับทางทหาร เพราะมีทั้งเสาสัญญาณ ถูกล้อมรั้วและติดป้ายเตือนให้อยู่ห่างจากโซนนี้เพราะเป็นเขตทหาร

สถานที่ลักษณะนี้ในคิวบาเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ระบุว่าจีนตั้งฐานสอดแนมในคิวบาตั้งแต่ปี 2019 และเตรียมสร้างสถานีดักฟังอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เนื่องจากคิวบาอยู่ห่างจากสหรัฐฯ ไม่ถึง 200 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในระยะที่จะดักฟังและเก็บข้อมูลจากฐานทัพและศูนย์บัญชาการที่อยู่ในพื้นที่ทางตะวันออกของสหรัฐฯ ได้

ขณะที่รัฐบาลจีนออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้สหรัฐฯ และจีนผิดใจกันไม่น้อย และทำให้การเยือนจีนของบลิงเคนต้องเผชิญแรงกดดัน จากสมาชิกสภาคองเกรสบางส่วน

แม้ในทางการเมือง สหรัฐฯ และจีนจะไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่ แต่ภาคธุรกิจคือหัวใจสำคัญที่ช่วยประสานรอยร้าวมาตั้งแต่ในอดีต โดยนับย้อนไปไม่ถึง 3 เดือน มีนักธุรกิจของบริษัทสัญชาติอเมริกันและมหาเศรษฐีอเมริกันติดอันดับโลกตบเท้ามาเยือนจีนและพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลไม่น้อยกว่า 5 คนแล้ว

ทั้งทิม คุก จากบริษัทแอปเปิล ซึ่งตั้งโรงงานผลิตไอโฟนใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศจีน, เจมี ไดมอน จากบริษัทด้านการเงิน JPMorgan, อีลอน มัสก์ ที่ถือโอกาสมาเยี่ยมโรงงานเทสลาในเซี่ยงไฮ้, ผู้บริหาร Starbucks ไปจนถึง บิล เกตส์ แม้ว่าจะไม่ได้นั่งทำงานในบริษัทไมโครซอฟต์แล้ว แต่บิล เกตส์ ก็ยังถือเป็นนักธุรกิจคนสำคัญของโลก ที่ยังคงมีบทบาทและอิทธิพลในการขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างๆ ไม่น้อย

นักธุรกิจอเมริกันเหล่านี้ถูกมองว่าอาจจะช่วยสร้างบรรยากาศความร่วมมือทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลกได้ ซึ่งทั้งๆ ที่มีข้อจำกัดทางการค้ามากมาย แต่เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการค้าของจีนและสหรัฐฯ สูงทำสถิติมากกว่า 690,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าการแข่งขันและการเผชิญหน้าจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การมีพื้นที่ให้สองมหาอำนาจได้พูดคุยกัน ก็จะช่วยให้การแข่งขันและการเผชิญหน้านั้น ไม่กลายเป็นความขัดแย้งนะคะ คุณจีรชาตา คุณพรวดีคะ ความสำเร็จจากภารกิจของบลิงเคน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ภายในปีนี้ เราจะได้เห็น สี จิ้นผิง และ โจ ไบเดน ร่วมโต๊ะประชุมกันอีกครั้ง

วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์

อ่านข่าวเพิ่ม : กกต. เผยรับรอง 500 ส.ส.ไปก่อน ตรวจสอบข้อร้องเรียนทีหลังได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง