วันนี้ (21 มิ.ย.2566) ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สังเกตการณ์บริเวณทางเท้าปากซอยรัชดาภิเษก 36 หรือซอยเสือใหญ่อุทิศ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่กรุงเทพฯ ได้ใช้เทคโนโลยี AI มาติดตั้งเพื่อจับป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่บนทางเท้าโดยพบว่าจุดนี้มีผลการจับมากที่สุดจำนวน 2,921 คัน จากจำนวน 5 จุดที่ กทม. นำกล้อง AI มาติดตั้ง
โดยระหว่างลงพื้นที่สังเกตการณ์ พบมีเจ้าหน้าที่เทศกิจยืนอยู่บริเวณทางเท้าด้วย และได้จับกุม รถจักรยานยนต์ 2 คัน ที่ขับบนทางเท้า ซึ่งหน้าระหว่างที่เจ้าหน้าที่เทศกิจ มาอยู่บริเวณนี้ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้นำรถจักรยานยนต์ ยกขึ้นรถเทศกิจ เพื่อนำไปที่สำนักงานเขตและเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท
อ่านข่าว : กทม. ใช้ AI จับ จยย. ขับบนทางเท้า 1 สัปดาห์พบทำผิดกว่า 4 พันคัน
คนขับขี่รถ จยย. เผยไม่มีพื้นที่ให้กลับรถระยะใกล้
ทั้งนี้ ทีมข่าวเข้าไปสอบถามกับ ผู้ที่โดนจับคนหนึ่ง ระบุว่า ไม่ทราบว่ากรุงเทพฯ ได้กำหนดมาตรการใช้ระบบ AI นี้มาใช้ แต่ยอมรับว่ารับทราบว่าการขับขี่บนทางเท้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายจราจร โดยผู้ขับขี่ให้ข้อมูลว่าจะรีบเดินทางไปพบลูกค้า จึงทำให้จำเป็นต้องขี่บนทางเท้าแทนการใช้ถนนเส้นทางหลักถนนรัชดาภิเษกซึ่งจะต้องไปยูเทิร์นเป็นระยะทางไกล กว่า 1.5 กิโลเมตร และกว่าจะอ้อมไปยังจุดหมายจะมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งนานกว่าการขับย้อนไปบนทางเท้า
ผู้ขับขี่อีกคนที่โดนจับ มีข้อเสนอถึงกรุงเทพฯ ให้ออกแบบโครงสร้างเส้นทางสำหรับกลุ่มรถจักรยานยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือไม่มีเส้นทางกลับรถในระยะสั้น เนื่องจากการถูกปรับในราคา 2,000 บาทถือว่าเป็นราคาที่สูง
จยย.รับจ้าง มองติดกล้อง AI เป็นเรื่องดี
ขณะที่ทีมข่าว สอบถามกับกลุ่ม จักรยานยนต์รับจ้าง บริเวณปากซอยเสือใหญ่ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้รับทราบถึงนโยบายที่กรุงเทพฯ กำหนดให้กลุ่มจักรยานยนต์รับจ้างที่ไม่มีจุดจอดบนถนนสามารถจอดบนทางเท้าได้แต่ขอให้ดับเครื่องหรือเข็นรถในระหว่างเข้าจุดจอดหรือรับผู้โดยสารโดยไม่ให้ติดเครื่องในระหว่างอยู่บนทางเท้า
ทั้งนี้มองว่าประเด็นเรื่องการใช้กล้อง AI ตรวจจับผู้ขับขี่บนทางเท้ามองว่าเป็นนโยบายที่ดี อย่างน้อย ทำให้ทุกคนเคารพกฎระเบียบ ซึ่งจะช่วยทำให้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องที่ลำบากใจ หรือทำไม่ได้
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บริเวณนี้ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวว่า สาเหตุที่รถจักรยานยนต์เลือกขับขี่บนทางเท้าบริเวณปากซอยเสือใหญ่อุทิศ เนื่องจากมีทั้งสถานที่ราชการ, ชุมชนขนาดใหญ่, ห้างสรรพสินค้าและมีการขนส่งสินค้าและส่งอาหารของกลุ่มไรเดอร์จำนวนมาก จึงทำให้กลุ่มจักรยานยนต์ เป็นกลุ่มที่ขับขี่บนทางเท้าจำนวนมากตามไปด้วย
ในขณะเดียวกัน กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้าง อ้างว่า มีผู้โดยสารหลายคนที่ไม่ยินยอมไปเส้นทางที่อ้อมในซอย และบังคับให้ย้อนบนทางเท้า เพราะการอ้อมเข้าซอย จะต้องเสียค่าโดยสาร มากขึ้น จึงทำให้ก่อนหน้านี้กลุ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างจึงจำเป็นต้องขี่บนทางเท้าแต่หลังจากที่ กทม. มีระเบียบนี้ออกมาทางผู้ขับขี่ได้ชี้แจงกับทางผู้โดยสารซึ่งก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วย
กทม. เก็บข้อมูลปรับปรุงพื้นที่จุดกลับรถ
นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่จุดนี้เท่าที่ขับรถตระเวนสำรวจ คือ ลักษณะกายภาพที่จุดกลับรถอยู่ไกลระยะเกือบ 2 กิโลเมตร และ อยู่ในพื้นที่เมืองพลุกพล่าน การสัญจรเยอะ ซึ่ง กทม. จะเก็บข้อมูลเพื่อนำไปดูว่า จะปรับปรุงหรือออกแบบโครงสร้างอย่างไร เพื่อเอื้อต่อกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยไม่ต้องขับขี่บนทางเท้าอีก ซึ่งก็จะเป็นการแก้ปัญหาภาพรวมเส้นทางและ การออกแบบเมือง ของ กทม.ไปด้วยอีกทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กทม. ใช้ AI จับ จยย. ขับบนทางเท้า 1 สัปดาห์พบทำผิดกว่า 4 พันคัน