กรณีผู้โพสต์ Tik Tok ภาพเรือข้ามฟากโคลงเคลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในสื่อสังคมออนไลน์ จนมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เพราะภาพดังกล่าวสร้างความหวาดเสียว พร้อมตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย โดยผู้สำคัญไม่ได้สวมใส่ชุดชูชีพ
หากดูในภาพจะเห็นว่า ผู้โดยสารที่นั่งตามจุดต่าง ๆ ในเรือ แต่ละคนนั่งนิ่ง ตัวเกร็ง ไม่ขยับเขยื้อน ที่สำคัญไม่ได้สวมใส่ชุดชูชีพ ทำให้โพสต์นี้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เนื่องจากรู้สึกหวาดเสียวและหลายคนเกรงว่าจะเกิดอันตราย
บริษัท สุภัทรา โบ๊ท จำกัด ชี้แจว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเรือโดยสารข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ออกจากท่าเรือวัดระฆัง ข้ามไปท่าเรือท่าช้างตามเส้นทางปกติ
แต่ช่วงดังกล่าวมีเรือโดยสารไฟฟ้าขนาดใหญ่แล่นผ่านมุ่งหน้าไปวัดอรุณ จึงทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้เรือข้ามฟากได้รับผลกระทบจากคลื่นอย่างมาก นายท้ายที่ควบคุมเรือข้ามฟากได้ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมเรืออย่างสุดความสามารถ เมื่อพ้นช่วงคลื่นดังกล่าว เรือได้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ โดยไม่มีผู้โดยสารได้รับอันตราย
บริษัทฯ ได้กำชับนายท้ายให้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังการเดินเรือขณะมีคลื่นให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงได้ประสานถึงกรมเจ้าท่าให้กำกับดูแลการเดินเรือของเรือโดยสารขนาดใหญ่ในแม่น้ำ ให้ลดความเร็วเพื่อมิให้เกิดคลื่นอันจะส่งผลกระทบต่อเรือขนาดเล็กอื่นๆ ที่ให้บริการอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นส่วนใหญ่
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้สอบถามไปยังนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปลอดภัย) ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติของเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีเรือจำนวนมากในบริเวณนั้น ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า เรือข้ามฟาก เรือลากจูง เรือดินเนอร์ครุยส์ เรือยอร์ชส่วนตัว เป็นการใช้แม่น้ำร่วมกัน เมื่อมีเรือมากจึงเกิดคลื่นจากเรือวิ่ง
ยืนยันว่า มีการกำหนดความเร็วเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว โดยจะต้องไม่เกิน 15 นอต
ชี้เรือตกร่องคลื่นเอียงได้ 45 องศาฯไม่คว่ำ
นอกจากนี้ ตามปกติเรือข้ามฟากจะวิ่งขวางคลื่น เมื่อตกร่องคลื่นจึงเกิดการโคลงเคลง ซึ่งตามธรรมชาติเรือจะสามารถเอียงได้ถึง 45 องศา และภายในเรือจะห้องผนึกน้ำที่ทำให้เรือลอยได้ และเรือทุกลำจะมีการคำนวณเรื่องการทรงตัวเรือว่าหากเอียงเกิน 45 องศาจะต้องไม่คว่ำหรือจม
พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายควบคุมว่า ผู้โดยสารจะต้องสวมชูชีพ แต่กำหนดว่าในเรือจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ห่วงยาง และเสื้อชูชีพ จะต้องมีเพียงพอให้สามารถหยิบฉวยได้เมื่อเกิดเหตุ
รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมเจ้าท่า ได้มีการติดตามการใช้ความเร็วในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่แล้ว และขณะนี้เรือบางลำได้มีการติดตั้งจีพีเอส หากมีการใช้ความเร็วจะสั่งหยุดเดินเรือทันที
ขณะเดียวกันในอนาคตอาจจะต้องมีการพิจารณาเรื่องความเร็วเรือในบางพื้นที่ที่มีเรือใช้งานเป็นจำนวนมากว่าอาจจะปรับความเร็ว
หลังมีผู้โพสต์ภาพเรือข้ามฟากโคลงเคลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในสื่อสังคมออนไลน์ จนมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เพราะภาพดังกล่าวสร้างความหวาดเสียว พร้อมตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัย