ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วัดใจขั้วรัฐบาลเดิม ชิงดำ “นายกฯ” หรือถอย?

การเมือง
5 ก.ค. 66
15:29
408
Logo Thai PBS
วัดใจขั้วรัฐบาลเดิม ชิงดำ “นายกฯ” หรือถอย?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ความชัดเจนเรื่องหนึ่งในการประชุมสภาฯ นัดแรก เลือกประธานและรองประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2566 คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้รับการยอมรับจากทั้งขั้ว 8 พรรคการเมือง และขั้วเสียงข้างน้อย ที่ไม่ส่งคนลงแข่งชิงเก้าอี้ ทำให้ขั้นตอนและเวลาในการเลือกเสร็จสิ้นในเวลาไม่นาน

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการโหวตเลือกรองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 1 ที่มีการแข่งขัน ก่อนที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล จะชนะนายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยคะแนน 312 ต่อ 105 เสียง งดออกเสียง 77 เสียง และบัตรเสีย 2 ใบ

ที่ชัดเจนถัดมาคือ ความเป็นเอกภาพของ 8 พรรคยังอยู่ครบ ไม่มีใครแตกแถว เห็นได้จากตัวเลขสนับสนุน “หมออ๋อง” ยังอยู่ที่ 312 เสียง ขณะที่คู่ชิงนายวิทยาได้เพียง 105 เสียง หายไป 82 เสียงจากยอดรวมเสียงฝ่ายข้างน้อย 187 เสียง

แม้เป็นการลงคะแนนลับ แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ให้คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า คนที่งดออกเสียง 77 คน น่าจะมาจากไหน เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยปล่อยฟรีโหวต

จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่นำไปสู่ความไม่ชัดเจน ที่สอดแทรกเป็นปมปริศนาให้ขบคิด โดยเฉพาะในขั้ว 8 พรรคร่วมรัฐบาล คือ เสียงข้างน้อยที่ถูกว่า “เสียงแตก” อันเกิดจากการปล่อยฟรีโหวตนั้น แท้จริงแล้วกำลังเล่นเกมการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่หรือไม่ หรือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่เตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์วันประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่

ก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายข้อ ตั้งแต่ทำไมขั้วเสียงข้างน้อยเลือกส่งคนชิงเฉพาะตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำไมไม่ชิงประธานสภาฯ และรองฯ คนที่ 2 ด้วย คำตอบง่ายๆไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน คืออาจไม่ได้ตั้งใจจะส่งลงแข่งขันจริง ๆ แต่อาจต้องการชิมลางหรือทดสอบความเป็นเอกภาพของ 8 พรรคร่วม ก็ต้องส่งประกบ

ครั้นจะแข่งชิงประธานสภาฯ กับนายวันมูหะมัดนอร์ ผลโหวตที่ได้อาจไม่สะท้อนตัวเลขจริง ด้วยเหตุหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้รับการยอมรับจากทั้งพรรคร่วมและขั้วเสียงข้างน้อยดังข้างต้น ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความเป็นกลาง วัยวุฒิ และประสบการณ์โชกโชน

ฉะนั้น หากหวังจะทดสอบให้ได้ตัวเลขจริง ต้องเป็นตำแหน่งอื่น จึงเป็นไปได้ ที่หวยจะออกที่การชิงรองประธานสภาฯ แทน

พิธา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ที่ยังต้องฝ่าฟันเสียงโหวตของ ส.ส.-ส.ว. ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้

พิธา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ที่ยังต้องฝ่าฟันเสียงโหวตของ ส.ส.-ส.ว. ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้

พิธา แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล ที่ยังต้องฝ่าฟันเสียงโหวตของ ส.ส.-ส.ว. ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้

ผลโหวตที่ออกมา มีแนวโน้มจะมีผลเชื่อมโยงถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญถูกถอดรหัสเป็น 2 มุม มุมแรกเชื่อว่าเป็นสัญญาณจากขั้วเสียงข้างน้อยว่า “เสียงแตก” และ 77 เสียงที่งดออกเสียง เป็นการสะท้อนไม่เอากับขั้วรัฐบาลเดิม

หากนำไปรวมกับ 312 เสียงของ 8 พรรคการเมืองในวันโหวตจริง จะได้ถึง 389 เสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 376 เสียง จึงแทบไม่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.เลย นายพิธาก็ผ่านด่านนี้สู่เก้าอี้นายกฯ เป็นแนวคิดในมุมบวก

แต่ในอีกมุมหนึ่ง กลับเห็นว่าแม้จะเสียงแตก แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไปโหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ คะแนนที่งดออกเสียงของ ส.ส.จะไม่ต่างจาก ส.ว.ส่วนหนึ่งที่จะงดออกเสียง

มุมคิดนี้ ฟันธงว่า ถึงจะปล่อยฟรีโหวตแต่พรรคภูมิใจไทยก็น่างดออกเสียง ไม่โหวตเลือกนายพิธาอยู่ดี ด้วยเหตุที่ได้ประกาศจุดยืนก่อนหน้านี้แล้วว่า จะไม่โหวตให้พรรคที่มีนโยบายแตะมาตรา 112

เท่ากับนายพิธาต้องหาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นเพิ่ม ที่สำคัญที่สุดต้องหาจาก ส.ว.ให้ได้ แต่ถึงแม้นายพิธา จะให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่า ตัวเลขดีขึ้นเรื่อย ๆ นั้น เป็นตัวเลขไหน ด่าน ส.ว.จึงยังคงเป็นด่านหินสำคัญของนายพิธาและพรรคก้าวไกลอยู่ดี

ขณะที่แนวคิดจะเสนอชื่อนายพิธาไปเรื่อย ๆ ในการประชุมรัฐสภา หากครั้งแรกครั้งที่ 2 ไม่ผ่านนั้น ในทางปฏิบัติ ต้องวัดใจขั้วเสียงข้างน้อยด้วยว่า จะส่งคนประกบชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเหมือนครั้งหลังสุด ปี 2562 ที่มีเสนอชื่อ นายธนากร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แข่งชิงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยหรือไม่

เพราะหากมีคู่ชิง 2 คน จะต้องมีการโหวตเลือกทันที และหากขั้วเสียงข้างน้อยได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ส่วนใหญ่ รวมแล้วเกินกว่า 376 เสียง ก็เท่ากับเป็นผู้ชนะ ได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ในมือ เป็นการปิดโอกาสเสนอชื่อครั้งต่อไปโดยปริยาย

ไม่ควรลืมว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย มีโอกาสจะขยายตัวเพิ่ม ส.ส.จนเป็นเสียงข้างมากในสภาฯได้ เพราะช่วงเวลาที่เหลืออยู่หลังโหวตได้นายกฯ ย่อมมีโอกาสดึงพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือดึงงูเห่ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่มมาเสริมทัพได้

นอกจากนี้การโหวตของ ส.ส. ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องโหวตตามมติพรรค จึงเป็นเรื่องวัดใจขั้วเสียงข้างน้อย ที่จะกลับมาได้เปรียบทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หลังประเมินและสรุปจากวันเลือกประธานสภาฯแล้ว จะท้าชนหรือจะถอย ต้องติดตาม

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง