ประเทศไทยติดโผอันดับต้นของโลก เรื่องความรุนแรงในครอบครัว พบส่วนใหญ่เกิดกับเด็กและสตรี คดีสะ เทือนใจล่าสุด คือ เหตุลุงตีหลานสาววัย 12 ขวบ จนเสียชีวิตซ้ำป้ายังช่วยซ่อนเร้นอำพรางศพ ยัดถังน้ำแข็ง โบกปูน
คืนพบศพ
กลางดึกวันที่ 4 กรกฎาคม ปรากฏภาพข่าวสะเทือนขวัญและหดหู่หัวใจอีกครั้ง หลังตำรวจและกู้ภัยเข้าตรวจสอบในบ้านพักหลังหนึ่ง ตามคำกล่าวอ้างของนางสาวนิรมล หรือ มิ้นท์ ว่า มีศพถูกโบกปูนอยู่ในถังน้ำแข็ง เจ้าหน้าที่พบถังน้ำแข็งสีน้ำเงินอยู่ในครัวตามคำอ้าง
เมื่อเปิดฝาถังก็พบว่า มีปูนซีเมนท์ถูกโบกปิดหน้าถังเอาไว้มิดชิด ทุบออกก็ยังพบดินปุ๋ย ปกคลุมอีกชั้น จากนั้นก็พบร่างของเด็กหญิงคนหนึ่ง นอนขดตัวงออยู่ในถังขนาด 200 ลิตร มีสภาพเปลือย
ตร.ออกล่าผู้ก่อเหตุ
ผู้แจ้งเหตุ น.ส.นิรมล หรือ มิ้นท์ เป็นป้า ของเด็กหญิงผู้เสียชีวิต และเป็นแฟนของนายยุทธนา หรือ แจ๊บ ผู้ก่อเหตุ โดยมีศักดิ์เป็นลุงของเด็กผู้เสียชีวิต ทั้งคู่รับหลานสาวคนนี้มาเลี้ยงดูตั้งแต่มีอายุได้ 7 ขวบ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เพียงแต่ น.ส.นิรมล เป็นลูกพี่ ลูกน้องของพ่อแท้ๆ ผู้เสียชีวิต ซึ่งหลังแยกทางกับแม่ น.ส.นิรมลจึงรับเลี้ยงดูตั้งแต่นั้นมา
คำบอกเล่าจากเพื่อนของผู้ต้องหา บอกว่า นายยุทธนา บ่นให้ฟังบ่อยๆ ว่า “อ้วน” (คำเรียกที่นายยุทธนาเรียกหลานสาว) ขโมยของอีกแล้ว วันนี้ก็ฟาดไปที”
นั่นหมายความว่า มีการลงไม้ลงมือกับเด็กอยู่เสมอ ส่วนสาเหตุที่กล่าวอ้าง ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ แต่วิธีการทำ โทษด้วยความรุนแรง ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้าย ยังส่งผลให้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นใช้ไม้เบสบอล ทุบตี เด็ก จนเป็นเหตุเด็กเสียชีวิต ดังที่ปรากฏในภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิดภายในบ้าน
หลังรับแจ้งความตำรวจชุดสืบสวนนครบาลแบ่งกำลังออกตามล่าหาตัวในทันที และใช้เวลาแกะรอยติดตามอยู่ประมาณ 16 ชั่วโมง ก็พบว่า นายยุทธนา เปิดโรงแรมอยู่ในย่านอินทามาระ จึงบุกเข้ารวบตัว สอบสวนรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา
แจ้งความไม่ทำพ้นผิด
แม้ว่า น.ส.นิรมล จะเป็นคนเข้าแจ้งความกับตำรวจ ทั้งยังมอบหลักฐานสำคัญให้ตำรวจทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ร่วมกระทำต่อหลานสาว
ตำรวจแสวงหาพยาน หลักฐานได้เพิ่มเติม พบว่า นายยุทธนาและนางสาวนิรมล เดินทางไปที่ร้านจำหน่ายถังน้ำแข็ง ในตลาดไท ด้วยกัน ในช่วงเช้าของวันที่ 2 กรกฎาคม หลังหลานสาวสิ้นลมไปได้ประมาณ 6 ชั่วโมง
สิ่งที่ทั้งคู่ควรทำคือ เรียกรถกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 และแจ้งตำรวจ แต่กลายเป็นว่า พากันตระเวนหาซื้ออุปกรณ์ซ่อนเร้น อำพรางศพหลานสาว
ยังมีหลักฐานที่ตำรวจได้เพิ่มเติมอีก เป็นนาทีที่นายยุทธนา แวะซื้อปูนซีเมนต์แบบสำเร็จและซื้อดินปุ๋ย จากร้านแถวบ้าน ก่อนจะกลับเข้าบ้านไปในช่วง 8 .30 น. และทยอยขนย้ายถังน้ำแข็งเข้าบ้าน โดยมีนางสาวนิรมล ช่วยขนถุงปูน ถุงดินปุ๋ย อีกแรง
จากพฤติการณ์ณ์เหล่านี้ ทำให้ น.ส.นิรมล ไม่อาจพ้นผิดไปได้ ตำรวจแจ้ง 3 ข้อกล่าวหา สนับสนุนให้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย , ร่วมกัน เคลื่อนย้าย เพื่อปกปิดสาเหตุการตายและไม่ให้การช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ตกอยู่ในภัยอันตราย
ร่างไร้วิญญาณคืนบ้านเกิด
ร่างของเด็กหญิงวัย 12 ปี ถูกส่งกลับไปบำเพ็ญกุศลตามความเชื่อที่บ้านเกิด ในจังหวัดอุทัยธานี โดยมี น.ส.ตรีรัตน์ มีเผ่า หรือจอย ผู้เป็นแม่และเครือญาติ รอรับร่างไร้วิญญาณอยู่ที่วัดด้วยความโศกเศร้า
“ยังรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากเลี้ยงไม่ได้ก็ขอให้บอก ก็ไปรับกลับมาได้ ถ้าลูกของฉันดื้อ จะดุ จะด่า จะตี ก็อย่าให้ถึงตาย ยืนยันว่า จะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด ลูกสาวของฉันไม่ใช่ผักใช่ปลา หรือหมูหมา ฆ่าแล้วยังเอาไปยัดใส่ถังน้ำแข็งอีก อยากได้ลูกกลับมาแบบมีชีวิต ไม่ใชเอากลับมาแบบนี้ เอาซากศพเอาเถ้ากระดูกกลับมาให้กอด ฉันไม่อยากได้” น.ส.ตรีรัตน์ กล่าว
ครอบครัว “แหลกสลาย”
เด็กหญิงอายุ 12 ปี จากไปโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะร้องขอชีวิต “ผู้ก่อเหตุ” ถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหา ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย โทษจำคุก ตั้งแต่ 3-15 ปี
ข้อหาซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ หรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ผู้ช่วยเหลือ” ถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหา สนับสนุนให้ทำร้ายร่างกายผูัอื่นจนถึงแก่ความตาย ระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ สนับสนุนนั้น จะถูกแจ้งข้อหาช่วยปกปิด ซ่อนเร้นฯ
ข้อหา ไม่ให้การช่วยเหลือบุคคลอื่นที่ตกอยู่ในภัยอันตราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่ 10,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
สถิติความรุนแรงในครอบครัว
เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัวไทย
ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระบุ สถิติความรุนแรงในครอบครัวในรอบ 6 ปี พบสูงถึง 9,386 ครอบครัว และหากเฉลี่ยรายปีจะเท่ากับว่า ทุกๆปี เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นในครอบครัวมากถึง 1,564 ครอบครัว ในกรณีเฉลี่ยแบบรายเดือนเท่ากับว่า เกิดความรุนแรงขึ้นภายในครอบครัวที่ 130 ครอบครัวต่อเดือน
และหากเฉลี่ยรายวัน เท่ากับว่า เกิดขึ้น 4 ครอบครัวต่อวันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละปี มีการก่อเกิดเหตุสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ในปี 2559 พบมี 1,001 ครอบครัว ในปี 2560 พบมี 1,309 ครอบครัว ปี 2561 พบมี 1,353 ครอบครัว ขณะที่ปี 2562 พบ 1,680 ครอบครัว
แม้กระทั่งในปี 2563 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ของโรคระบาด มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นจากภาวะความ เครียด สอดคล้องกับสถิติพบสูงขึ้นถึง 1,866 ครอบครัว ปี 2564 พุ่งแตะ 2,177 ครอบครัว
ขณะที่สถิติจากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว พม. บันทึกสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดในครอบครัวประจำปี 2565 เอาไว้ที่จำนวน 1,711 ครอบครัว
ขณะที่ปี 2566 ผ่านมาครึ่งปีพบว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัวที่ 497 ครอบครัวด้วยกัน ซึ่งข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ เฉพาะข้อมูลที่ได้รับการรายงาน รับการร้องทุกข์ หรือเป็นแจ้งความเป็นคดีเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ยังมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบ ครัวอีกมากที่ไม่ได้ถูกเปิดเผย และเป็นสัญญาณอัน ตรายที่สะสมพลังงานความรุนแรงเอาไว้ … รอวันระเบิดและแหลกสลายไปด้วยกัน!
รายงาน : กิตติพร บุญอุ้ม ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม