(6 ก.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมผู้บริหาร กทม. ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และ มีผู้บริหาร ระดับ ผอ.เขตทั้ง 50 เขต และ ระดับ ผอ.ทุกสำนักเข้าร่วม ทางผู้ว่าฯ ได้สั่งให้ตรวจสอบเกี่ยวกับข้อมูลการจัดเก็บขยะในกรุงเทพ ที่เป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งแต่ละปีกรุงเทพฯ ได้งบประมาณบริหารจัดการเกี่ยวกับขยะทั้งระบบมากถึง 8,000 ล้านบาท แต่การบริหารงานยังไม่เต็มศักยภาพ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ ระบุว่า การจัดเก็บขยะของรถขยะ กทม. เป็นการเช่ารถ ตามสัญญาวันละ 16 ชั่วโมง ระยะทาง 200 กิโลเมตรต่อคัน ซึ่งภาพรวม รถจัดเก็บขยะของ กทม. มีรถขยะมากกว่า 1,000 คัน แต่ถามว่าการวิ่งรับขยะของรถขยะ กทม. จริงๆ วิ่งวันละกี่ชั่วโมง
อย่างเช่นในพื้นที่เขตสายไหม มีข้อมูลพบว่า วิ่งเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 7 ชั่วโมง แต่สัญญาเช่ามาวันละ 16 ชั่วโมง แล้วยังไง ทำไมเวลาที่เหลือคือจอดทิ้ง ผมสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปแก้ปัญหากันให้ได้ เรื่องนี้เราดูจากข้อมูล GPS ที่ติดไว้ที่รถขยะ เป็นข้อมูลที่ระบุข้อเท็จจริงได้คำถามคือทำไมเราต้องเช่ารถขยะ 16 ชั่วโมง แต่วิ่งแค่ 7 ชั่วโมง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ทางออกเรื่องนี้ คือ กทม. ไม่ต้องเช่ารถขยะถึง 16 ชั่วโมง หรืออีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนก็คือ ทำไมไม่วิ่งให้ครบ 16 ชั่วโมงไปเลย ซึ่งถ้าเราวิ่งครบ 16 ชั่วโมง ประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะการทำงานจะต้องไปจัดเก็บขยะตามบ้านเรือน สถานที่ต่างๆ ได้เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 2 วันหรือมากกว่านั้น แต่ตอนนี้ทำได้แค่สัปดาห์ละ 1 วัน ก็จะไม่ครอบคลุมกับ ปริมาณขยะที่ต้องจัดเก็บตามหน้าบ้านหรือครัวเรือน ที่ล้นทะลักกองอยู่หน้าบ้านคน
นายชัชชาติ ระบุด้วยว่า แต่เดิมคิดว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีเอ้าท์ซอร์สคนนอก แต่คิดดูแล้ว การเอ้าท์ซอร์สจะทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มมหาศาลในการจ้างงาน เพราะการจ้างเอ้าท์ซอร์สเพิ่ม 1 คน ต้องมีค่าสวัสดิการ และค่าอื่นๆ ในการจ้างคนเพิ่มด้วย
ทางที่ดีก็ให้เน้นลูกจ้าง พนักงาน ของ กทม. แต่ให้เขาทำโอทีเพิ่มได้ด้วย ซึ่งผมคุยกับพนักงานเก็บขยะทุกอาทิตย์ที่เวลาเราออกไปสัญจร กทม. พนักงานกวาดหลายคน ก็อยากมีรายได้เพิ่ม เพราะเงินเดือนไม่พอใช้ ถามว่าเลิกงานกลับบ้านไป ก็ไม่มีอะไรทำกันมาก สู้ให้เขามาทำโอทีดีกว่าไหม เท่าที่ถามก็มีหลายคนเขายินดีทำโอทีอยู่แล้วก็ให้เอารถขยะออกไปใช้งานให้มากขึ้น เอาไปเก็บขยะเพิ่มมากกว่า 7 ชั่วโมง ปรับกระบวนการของรถเก็บขยะเพื่อให้ เก็บได้ 2 เที่ยวต่อสัปดาห์
ผมว่าเรื่องนี้ต้องปรับปรุงกันเป็นกระบวนการ ผมขอร้องเลยนะครับ ขอให้ทำกันให้ได้ และให้โอที ส่วนตรงไหนติดขัดอะไร ถ้าไม่ได้ต้องรีบบอกมา เพราะเราไม่ใช่ต่างจังหวัด ซึ่งต่างจังหวัดเขาเก็บขยะได้ดีกว่าเราอีก แต่เราเป็นกรุงเทพฯ ทำไมเราถึงได้เก็บขยะได้แค่อาทิตย์ละวัน มันเป็นไปไม่ได้ เพราะขยะมันเหม็นเน่าหมดตามหน้าบ้านประชาชน
รถเก็บขยะ กทม.
สำหรับการเก็บขยะ ขอให้ฝ่ายเกี่ยวข้องไปประสานความร่วมมือกับกลุ่มหมู่บ้านต่างๆ ให้หาจุดทิ้งขยะเป็นจุดเดียวไปเลย เพราะส่วนหนึ่งที่เราเสียเวลาจัดเก็บขยะ ก็คือการเก็บขยะตามหมู่บ้านที่มีหลายจุด แต่ถ้ามีจุดในการจัดเก็บ ก็จะได้เก็บได้ทีเดียวและพนักงานเราก็ไม่ต้องทำงานหนักเหนื่อยมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ขอให้ทางผู้อำนวยการเขต ไปเข้มข้นกับฝ่ายรักษาฯ ที่ดูแลเรื่องนี้
เรื่องนี้ต่อให้นโยบายดีมากแค่ไหนแต่ถ้าขยะเหม็นเน่าอยู่หน้าบ้าน สิ่งที่ทำมาดีทั้งหมด ไม่มีความหมายเลย คนเขาก็ด่าเรื่องขยะนี่แหละ กทม. เราก็จะมาตายแค่เรื่องตื้นๆ ไม่ได้ และมันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องใช้เงินเยอะ
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ยกตัวอย่างเกี่ยวกับข้อมูล GPS เพื่อที่ติดตามดูการทำงานของรถขยะ ซึ่งสามารถบอกได้ว่า วิ่งไปในเส้นทางไหน, จอดจุดไหนกี่นาที ซึ่งเป็นข้อมูลที่เห็นชัดเจน แม้กระทั่งว่ารถวิ่งไปยังจุดคัดแยกขยะตรงไหน มีการวิ่งออกนอกเส้นทางหรือไม่ หรือเอาขยะที่คัดแยกแล้วไปขายที่ไหน GPS สามารถบอกได้หมด
ตัวอย่างเส้นทาง GPS รถขยะ
ข้อมูลเหล่านี้ GPS บอกได้หมด วิ่งไปหาขยะตรงจุดนี้ แล้วรถไปจอดคัดแยกขยะ 30 นาทีตรงนั้น เรื่องแยกขยะผมไม่ได้ต่อว่าว่าจะแยกไม่ได้เพราะเขาก็ได้เงินจากการคัดแยก และอีกทางหนึ่งก็จะได้เป็นการช่วยลดปริมาณขยะหมักหมมของกรุงเทพฯ แต่สำคัญคือ ต้องไม่มาเบียดบังค่าเช่ารถขยะ แล้วไปเสียเวลาในการคัดแยกขยะ จนทำให้กระทบการจัดเก็บขยะตามหน้าบ้านประชาชน อยากแยกขยะ ก็แยกไปเถอะ แต่ทำให้ครบตามกำหนดการสัญญา ไม่ใช่แยกขยะแล้วสุดท้ายไม่ได้ไปเก็บขยะตามเป้าหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และประชาชนร้องเรียนมาเยอะ เรื่องนี้ ผมขอให้ ผอ.เขต ต้องจริงจัง และต้องไปตรวจสอบ GPS รถขยะบ้าง เพื่อดูข้อมูลของรถ ทุกอย่างมีระบุไว้ชัดเจนหมดแล้ว
อ่านข่าวอื่นๆ :
กทม.ชี้แจงน้ำท่วม 5 แยกลาดพร้าว เหตุฝนตกหนัก แต่ระบายได้เร็ว
กทม.เร่งรื้อสิ่งปลูกสร้าง แผงค้า ปรับทัศนียภาพริมคลองผดุงกรุงเกษม