เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลการรับมือกับโรค "ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก" กับการระบาดในอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและสุ่มเสี่ยงจะระบาดไปทั่วโลก
ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก (Crimean-Congo Hemorrhagic Fever: CCHF) เป็นโรคไวรัสที่อันตรายและอาจถึงตายได้ ซึ่งติดต่อโดย "เห็บ" พบการระบาดในหลายส่วนของโลก รวมถึงแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้และเอเชียกลาง โรคนี้พบครั้งแรกในแหลมไครเมียปี 2487 ต่อมาระบาดในคองโก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก”
องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและจัดให้เป็น 1 ใน 10 โรคติดเชื้อไวรัสที่มีศักยภาพจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก เพราะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกไครเมีย-คองโกถี่ขึ้นในช่วงปี 2564-2566
อัฟกานิสถาน มีรายงานผู้ป่วย 111 คน และเสียชีวิต 6 คนจากโรคไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก ตั้งแต่ปี 2565-2566 โดยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกไครเมีย-คองโกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 90 คน โดยเฉพาะใน จ.เฮรัต ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อ 36 คน มีผู้เสียชีวิต 5 คน
ก่อนหน้านี้มีรายงานผู้ป่วย 3 คนใน จ.ทัคคาร์ โดยมีผู้ป่วย 1 คนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นและโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอัฟกานิสถานเร่งทำงานแข่งกับเวลาเพื่อควบคุมการระบาด
นอกจากนี้พบการระบาดในอิรัก 380 คนในปี 2565 เสียชีวิต 74 คน ส่วนอิหร่าน ช่วงเดือน มี.ค.2564 - มี.ค.2565 มีผู้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก 13 คนในประเทศ เพิ่มขึ้น 500% โดย 2 คนเสียชีวิต และหนึ่งปีก่อนหน้านั้นพบติดเชื้อ ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก 40 คนและเสียชีวิต 5 คน
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก เป็นไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะ ทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกรุนแรง โดยมีอัตราการเสียชีวิต 10-40% ซึ่งไวรัสไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก ติดต่อผ่านการกัดของเห็บ หรือผ่านการสัมผัสกับเลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างและทันทีหลังการเชือดสัตว์เพื่อบริโภค ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดในไทย
"เห็บ" พาหะไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก
“ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก” มีสาเหตุมาจาก “ไวรัสไนโร" (Nairovirus) ที่มีเห็บเป็นพาหะ อยู่ในวงศ์ของไวรัส “บันยาวิริเด" (Bunyaviridae) มีจีโนมเป็น RNA สายเดี่ยว แบ่งเป็น 3 ท่อน (L, M และ S) แพร่เชื้อโดยเห็บ (Ixodidae และ Argasidae) เป็นหลัก
อีกทั้งสามารถแพร่เชื้อตามธรรมชาติระหว่างสัตว์สู่สัตว์ เช่น ในนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (ค้างคาว หนู ตัวตุ่น และเม่น) และสัตว์เท้ากีบร่วมด้วย บางกรณีมีการติดเชื้อไวรัสไนโรแพร่กระจายไปยังมนุษย์ โดยพบระบาดในผู้คนเลี้ยงสัตว์และพนักงานในโรงฆ่าสัตว์
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำลังติดตามสถานการณ์ในอัฟกานิสถานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไข้เลือดออกไครเมีย-คองโกถือเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่สำคัญ
สำหรับไวรัสไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก ติดเชื้อมายังมนุษย์จากการถูกเห็บกัด หรือการสัมผัสกับเลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ หรือคนที่ติดเชื้อ อาการจะเกิดขึ้นระหว่าง 1-14 วันหลังเห็บกัดหรือสัมผัสสารคัดหลั่ง โดยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียและมีเลือดออก กรณีที่รุนแรงอาจทำให้อวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศต่างๆ ควรเร่งเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แม้จะไม่มีการรักษาเฉพาะ แต่การดูแลแบบประคับประคองสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในผู้ป่วยไข้เลือดออกไครเมีย-คองโกได้ โดยมีอัตราการเสียชีวิตของโรคอยู่ในระหว่าง 10-40% และอาจพุ่งสูงถึง 60% ในช่วงที่มีการระบาด
ตัวเลขเหล่านี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการป้องกัน เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเห็บ ใช้ยาขับไล่แมลง และการรักษาทันทีเมื่อเห็บกัด ส่วนคนงานในโรงงานฆ่าสัตว์ควรสวมถุงมือและชุดป้องกันการสัมผัสกับเลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ติดเชื้อ
10 อันดับโรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตาม
10 โรคติดเชื้อที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าติดตาม
สำหรับ 10 อันดับโรคติดเชื้อที่มีความสำคัญที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้ทั่วโลกเฝ้าติดตาม รวมโรค X ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไวรัสที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2560 และมีการจัดลำดับความสำคัญครั้งสุดท้ายในปี 2561 โดยรายชื่อโรคที่มีความสำคัญในปัจจุบัน ณ เดือน ก.ย.2565 มีดังนี้
- โควิด 19
- ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก
- โรคไวรัสอีโบลา
- โรคไวรัสมาร์บวร์ก
- ไข้ลาสซา
- กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส)
- กลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)
- เฮนิปาไวรัส
- ไวรัสนิปาห์ (NiV)
-ไวรัสแลงยา (LayV)
- ไวรัสเฮนดรา (HeV)
- ซีดาร์ไวรัส (CedV)
- ไวรัสโม่เจียง (MojV)
- ไวรัสกานา (GhV)
- ไวรัสเอ็ม 74 (M74V) - โรค Rift Valley fever
- ซิก้า
- โรค X ใช้เรียกโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่ทราบว่าเป็นเชื้ออะไร
อ่านข่าวอื่นๆ
ครึ่งปี 66 พบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" ในไทยสะสมกว่า 27,000 คน