วันที่ 10 ก.ค.2566 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพลทัต สุราฤทธิ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 สำนักงานคดีพิเศษ พล.ต.ต.ดุลเดชา อาชวะสมิตระกูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ รอง ผบก.ตม.5
เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประชุมหาทางออกให้กับเด็กนักเรียน 126 คน สัญชาติเมียนมา กรณีหน่วยงานของรัฐ ผลักดันเด็กนักเรียน 126 คน ที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ จากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง กลับประเทศเมียนมา เนื่องจากเข้าเมืองผิดกฎหมาย
การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กสัญชาติเมียนมา ข้ามแดนเข้ามาเรียนในประเทศไทย (10 ก.ค.2566)
ล่าสุดมีผู้ปกครองของเด็ก 59 ราย ขอรับเด็กกลับไปยังประเทศเมียนมาแล้ว ยังคงเหลืออีก 67 คน ที่ยังไม่สามารถติดต่อพ่อแม่มารับได้ อาจจะเกิดจากปัญหาการสู้รบในประเทศเมียนมา และบางรายมีญาติมาแสดงตัวเป็นผู้ปกครอง แต่ไม่สามารถนำหลักฐานมายืนยัน จึงไม่สามารถรับตัวเด็กไปได้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า กรณีนี้ต้องมองหลายมิติ จะมองเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญด้วย สิ่งที่เด็กต้องการคือการศึกษา และจะเป็นแรงงานสำคัญของประเทศไทยในอนาคต จะทำให้อย่างไรให้เด็กเหล่านี้เข้ามาศึกษาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อสรุปทุกมิติ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.
สำหรับสถานการณ์ของเด็กที่เหลืออยู่ ได้พักกับบ้านพักเด็ก และขั้นตอนต่อไปคือประสานพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็ก ในฝั่งประเทศเมียนมา หากเด็กยังต้องการเรียนก็ได้หารือกับเลขาธิการ สพฐ. เพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียนที่รองรับ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องยินยอมด้วย เพราะในประเทศเมียนมา หลายพื้นที่มีการสู้รบและขาดโอกาสทางการเรียน
ส่วนกรณีเด็กที่หาตัวพ่อแม่ไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่จะจัดหาผู้ดูแลเด็กและอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็ก จ.เชียงราย ด้วย ทั้งหมดถือเป็นมติที่ประชุม และจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปภายในวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.นี้ เพื่อให้เด็กเหล่านี้รู้ถึงอนาคตตัวเอง
การประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กสัญชาติเมียนมา ข้ามแดนเข้ามาเรียนในประเทศไทย (10 ก.ค.2566)
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบเด็กในลักษณะนี้ เรียนอยู่ตามโรงเรียนตามแนวชายแดนกว่า 70,000-80,000 คน เรื่องการดำเนินการต่าง ๆ จะต้องประชุมหารือร่วมกันโดยหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลัก ว่าจะเข้ามาเรียนอย่างไรอย่างถูกต้อง มีสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ยารักษาโรค วัคซีนโควิด-19 เป็นต้น
กรณีด้านความมั่นคง หากมีภูมิลำเนาอยู่ที่ชายขอบ ก็สามารถข้ามแดนมาเรียนหนังสือได้ แต่ไม่ได้หมายถึงเข้ามาลึกถึงกรุงเทพฯ จ. พระนครศรีอยุธยา หรือ จ.อ่างทอง เพราะโรงเรียนตามแนวชายแดนมีอยู่อย่างเพียงพออยู่แล้ว
เพื่อจะได้มีการรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมายของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และการศึกษาของเด็กโดยยึดเรื่องสิทธิเด็กเป็นสำคัญต่อไป
นางเตือนใจ ดีเทศน์ นักสิทธิมนุษยชน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย
ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ นักสิทธิมนุษยชน และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ได้เห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่หาทางออกให้กับเด็กทั้ง 126 คน เพื่อให้ได้เข้าถึงการศึกษา และยังเห็นถึงความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่สามารถเข้าใจถึงบริบทของสิทธิมนุษยชน เป็นตัวกลางในการประชุมและหาทางออก ให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนกับเด็กนักเรียนทั้ง 126 คนด้วย