ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ที่ใครบอกว่าจะ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ทำได้จริงหรือ?

การเมือง
14 ก.ค. 66
16:23
2,900
Logo Thai PBS
ที่ใครบอกว่าจะ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ทำได้จริงหรือ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
6 ครั้งแล้วที่มีการพยายามปิดสวิตช์ ส.ว. ชุดปัจจุบัน แต่ก็ "ล่ม" ทุกครั้ง เพราะกว่าจะขอแก้ไข ม.272 ที่เป็นจุดกำเนิดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ได้นั้น ต้องผ่าน ม.256 ให้ได้ก่อน โดยเฉพาะข้อสำคัญ ส.ว. ต้องเห็นชอบมากกว่า 1 ใน 3 ญัตติแก้ไขจึงจะได้รับการพิจารณา

#ส.ว.มีไว้ทำไม ? แฮชแท็ก ที่วิ่งขึ้นวิ่งลงติดเทรนด์ในกระแสโลกโซเชียลมาอย่างยาวนาน แต่จะติด 3 อันดับแรก หรือรั้งอันดับ 1 นานหน่อยก็ช่วงที่ใกล้การพิจารณาญัตติบางอย่าง หรือที่เห็นชัดที่สุดก็วันโหวตนายกฯ 

คำตอบที่ตรงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เลยก็คือ 

พิจารณากฎหมายร่วมกับ ส.ส. ในฐานะสมาชิกรัฐสภา และกลั่นกรองกฎหมายที่ ส.ส. ได้ลงมติให้ความเห็นชอบ"แล้ว"

ซึ่งไม่ได้แตกต่างจาก ส.ว.ในชุดก่อนๆ นับตั้งแต่ประเทศไทยมีคณะวุฒิสภามาตั้งแต่ พ.ศ.2489 เลย ในยุคนั้น ส.ว. มาจากทั้งการแต่งตั้งทั้งคณะบ้าง บางคณะก็ผสมระหว่างแต่งตั้งและเลือกตั้งจากประชาชนบ้าง หรือบางคณะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมดเลยก็มี เช่น การเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรงในวันที่ 4 มี.ค.2543

ส.ว.บทเฉพาะกาล

ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของ 250 ส.ว. ที่มาจากการ "คัดเลือก" ผสมกับ "สรรหา" จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีวาระ 5 ปี นับตั้งแต่ 11 พ.ค.2562-10 พ.ค.2567

"สมาชิกวุฒิสภา" หรือ ส.ว. ชุดปัจจุบัน เป็นชุดที่ 12 ของรัฐสภาไทย แต่เป็นชุดแรกและหนึ่งเดียวในขณะนี้ ที่มีอำนาจในการโหวตบุคคลที่ได้เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปี 60

ในช่วง 5 ปีแรก ให้ ส.ว. มีอํานาจในการพิจารณาเลือกบุคคลเป็นนายกฯ ได้ แต่กําหนดให้ ส.ส. เป็นผู้มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลจะมาเป็นนายกฯ ได้เท่านั้น เพราะ ส.ส. เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกมา ดังนั้น ส.ส. จึงต้องมีส่วนสําคัญในการเลือกคนไปทําหน้าที่ฝ่ายบริหาร ส.ว. จะมีหน้าที่ร่วมลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกฯ เท่านั้น

ผลงานที่ผ่านมาคือ การโหวตสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยในการเลือกตั้ง 2562 ด้วยคะแนน 500 เสียง จาก ส.ส. 251 เสียง และ ส.ว. 249 เสียง (ประธานวุฒิสภางดออกเสียง 1 เสียง)

ส่วนผลงานในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ก็ทำให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชวดตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ในการโหวตนายกฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ค.2566) เพราะมีเพียง 13 เสียง ส.ว.เท่านั้นที่โหวตเห็นชอบ ขณะที่ไม่เห็นชอบ 34 เสียง งดออกเสียง 159 และมี ส.ว.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมอีก 43 คน

ปิดสวิตช์ ส.ว.

เอกสาร "นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560" จากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลโดย นายโชคสุข กรกิตติชัย วิทยากรชํานาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการ เขียนไว้ว่า

แนวโน้มการเลือกนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล อาจสร้างปัญหาตามมา เพราะเชื่อว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่งถึง 376 คน ที่จะเลือกนายกฯ ได้เอง แต่ ส.ว. จํานวน 250 คน จะกลายเป็นตัวแปรสําคัญในการเลือกนายกฯ

จึงมีความพยายามมากถึง 6 ครั้งที่จะเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 จากรัฐบาลผสมและพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่ให้มีอำนาจโหวตนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. แต่ขั้นตอนในการยื่นญัตติขอแก้ไขนั้นก็ไม่ได้ง่ายเลย

มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้ผู้ที่ต้องการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถเข้าชื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยต้องมาจาก

  • คณะรัฐมนตรี
  • ส.ส. จำนวน 1 ใน 5 หรือ 100 คน จาก ส.ส. 500 คน
  • ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 1 ใน 5 หรือ 150 คน จาก 750 คน
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 ชื่อ

เมื่อเสนอญัตติแล้ว ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ และ 1 วาระศาลรัฐธรรมนูญ

  1. ขั้นรับหลักการ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา หรือ 376 เสียง โดยในจำนวนนี้ "ต้อง" ได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน
  2. ขั้นพิจารณา ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา หรือ 376 เสียง
  3. ขั้นสุดท้าย นอกจากเสียงจากข้อ 1,2 แล้ว ต้องได้รับเสียงเห็นชอบของ ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี, ประธานหรือรองประธานสภาฯ หรือ "ส.ส. ฝ่ายค้าน" ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 รวมกัน 
  4. ขั้นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้ง 2 สภารวมกัน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือของสองสภารวมกันแล้วแต่กรณี (ส.ส. 50 คน, ส.ว. 25 คน หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว. รวมกัน 75 คน) สามารถเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ 

เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ส.ว.สวิตช์ค้าง

มีการเสนอการแก้ มาตรา 272 เพื่อ "ปิดสวิตช์ ส.ว." มาแล้วถึง 6 ครั้ง ทั้งจากภาคประชาชน และ พรรคการเมืองที่รวมตัวกันทั้งฝ่ายรัฐบาลเดิมและฝ่ายค้าน 

  1. พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอตัด มาตรา 272 ออกทั้งหมด และแก้ มาตรา 159 โดยนายกฯ ต้องมีชื่อในบัญชีหรือเป็น ส.ส. ถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการไปเมื่อเดือน พ.ย.2563
    พร้อมกับ 
  2. ภาคประชาชน (iLAW) เสนอในตัด มาตรา 272 ออกทั้งหมด รวมถึงแก้ มาตรา 159 โดยนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการไปเมื่อเดือน พ.ย.2563

  3. พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอตัด มาตรา 272 ออกทั้งหมด และแก้ มาตรา 159 โดยนายกฯ ต้องมีชื่อในบัญชีหรือเป็น ส.ส. (เหมือนข้อ 1) ครั้งนี้ผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาด้วย 455 เสียง แต่ก็ถูกปัดตก เพราะติดเสียง ส.ว. ที่เห็นชอบเพียง 15 เสียงเท่านั้น เมื่อเดือน มิ.ย.2564
    พร้อมกับ
  4. พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย เข้าชื่อเสนอตัด มาตรา 272 ออกทั้งหมด และแก้ มาตรา 159 โดยนายกฯ ต้องมีชื่อในบัญชีหรือเป็น ส.ส. (เหมือนข้อ 1) ครั้งนี้ผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาด้วย 461 เสียง แต่ก็ถูกปัดตก เพราะติดเสียง ส.ว. ที่เห็นชอบเพียง 21 เสียงเท่านั้น เมื่อเดือน มิ.ย.2564

  5. ภาคประชาชน (Re-Solution) โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พริษฐ์ วัชรสินธุ เสนอในตัด มาตรา 272 ออกทั้งหมดและยกเลิก ส.ว. แต่รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการเมื่อ พ.ย.2564

  6. ภาคประชาชน (No 272) นำโดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นเรื่องผ่านทางพรรคเพื่อไทยไปเมื่อเดือน ม.ค.2565 เสนอให้ตัดวรรคแรกใน มาตรา 272 ไม่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ แต่ยังสามารถมี "นายกคนนอก" ได้ ซึ่งรัฐสภาก็ลงมติไม่รับหลักการอีกเช่นเดิม

การเสนอ "ปิดสวิตช์ ส.ว." ทั้ง 6 ครั้งที่ผ่านมา ไม่แม้แต่จะสามารถผ่านวาระแรกไปได้ เพราะไม่มีครั้งไหนที่ได้คะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เกิน 1 ใน 3 หรือมากกว่า 84 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ "ฉิวเฉียด" ที่สุดคือข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผ่านวาระแรกไปได้เพราะได้เสียงเห็นชอบเพียง 56 เสียงจาก ส.ว. เท่านั้น

"สวิตช์" ที่ทั้งประชาชนหรือพรรคการเมืองต่างพยายามจะปิดนั้น แท้ที่จริงอาจไม่มีสวิตช์นั้นอยู่จริง ส.ว.สมชาย แสวงการ อ้าง 15 ล้านเสียงที่มาจากประชามติรับรองให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ เสมือนผู้เปิดสวิชต์ให้ 250 ส.ว. ได้ส่องแสงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเลือกนายกฯ ในปี 2562  

ขณะที่ ส.ว.เสรี สุวรรณภานนท์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว. ตาม ม.272 โดยอ้างว่าเป็นเพราะวิกฤตของประเทศ รัฐธรรมนูญปี 60 จึงถูกคัดเลือกมาเพื่อทำหน้าที่พิเศษ

เราไม่ได้หวงอำนาจ เราเดินออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ตอนที่เข้ามาเป็น ส.ว. มีภารกิจ เราก็ต้องทำให้เสร็จสิ้นลุล่วงในช่วง 5 ปี เพราะฉะนั้นขออภัยด้วย ผมไม่ได้จะไม่เคารพเสียงพี่น้องประชาชนที่เสนอเข้ามา แต่เรามีเหตุผลของเรา

You can fool all the people some of the time
and some of the people all the time,
but you cannot fool all the people all the time
"Abraham Lincoln" 

คุณหลอกคนทุกคนได้ในบางเวลา
และหลอกบางคนได้ตลอดเวลา
แต่คุณไม่สามารถหลอกทุกคนได้ตลอดเวลา
"อับราฮัม ลินคอล์น" อดีต ปธน.สหรัฐอเมริกา

อ่านข่าวเพิ่ม :

จับกระแสการเมือง : วันที่ 14 ก.ค.66 "ก้าวไกลเดินหน้าปิดสวิตช์ ส.ว."

"เสรี" ซัดแก้ ม.272 ดิสเครดิต - "ประพันธุ์" ค้านเสนอชื่อ "พิธา" รอบ2

"หมอชลน่าน" ชี้ไม่มีดีลข้ามขั้ว ยันเคียงข้างก้าวไกลเสมอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง