ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ทักษิณ”กลับ-ดีลตั้งรัฐบาลจบ

การเมือง
28 ก.ค. 66
07:09
1,670
Logo Thai PBS
“ทักษิณ”กลับ-ดีลตั้งรัฐบาลจบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้ำครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ แต่ครั้งนี้ แจ้งกำหนดวันเดินทางกลับไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เป็นวันที่10 ส.ค.2566 จากกำหนดเดิมเดือนกรกฎาคม

ที่น่าแปลกใจเพราะถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานไหน ให้รายละเอียดหรือแม้แต่ข่าวคราวเบื้องต้นว่า จะกลับมาอย่างไร และเข้าสู่กระบวนการรับโทษอย่างไร

ที่สำคัญ คือมีประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร ผ่านหน่วยงานไหน เพราะแม้แต่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า เห็นจากข่าวว่านายทักษิณจะกลับไทย แต่ไม่รู้ติดต่อกับใคร

หากมองว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาก็มองได้ เมื่อคนระดับอดีตนายกฯ ที่ถูกมองเป็นอริสำคัญกับกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบัน เคยยื้อยุดชิงไหวชิงพริบ และเล่ห์เหลี่ยมการเมืองมาตลอดนับสิบปี จู่ ๆบอกจะกลับมารับโทษ โดยไม่มีการประสานติดต่อกับกลุ่มผู้มีอำนาจ ย่อมเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากมาก

หลังจากมีข่าวลือวงใน มีการประสานผ่านอดีตนายทหารใหญ่ระดับบิ๊กคนหนึ่ง และมีนักธุรกิจใหญ่อีกคน ช่วยทำหน้าที่ประสานและเจรจากับกลุ่มอำนาจปัจจุบัน แม้จะไม่มีใครยืนยัน เรื่องนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีการเจรจาและอาจรวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนหน้านี้แล้ว

แม้คนในตระกูลชินวัตรเอง รวมทั้งคุณหญิงอ้อ พจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา จะแสดงความกังวลเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัย และเกรงว่าจะโดนหลอก แต่นายทักษิณยังยืนกรานจะกลับไทย สะท้อนได้ว่า คนระดับนายทักษิณที่ผ่านประสบการณ์โชกโชน และเป็นคนระมัดระวังตัวอย่างยิ่ง มีหรือจะมองข้ามเรื่องนี้ไปได้

เจ้าตัวเองเคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติว่า เคยตกเป็นเป้าลอบสังหารมาแล้วถึง 4 ครั้ง แต่รอดปาฏิหาริย์ ทั้งจากจะถูกลอบยิง หรือถูกวางระเบิด อันเกิดจากความบังเอิญ และไม่ประมาท

แม้บางกรณี จะถูกมองว่าเป็นเพียงการสร้างเรื่องให้ดูสมจริงสมจัง เช่นกรณี คาร์บอมบ์โดยทหารสังกัดกอ.รมน. ขับรถเก๋งบรรทุกระเบิดไว้ภายใน ทั้งทีเอ็นทีและซีโฟร์ นำรถไปจอดอยู่แถวสี่แยกบางพลัด ใกล้บ้านพักในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ของนายทักษิณ และเป็นเส้นทางผ่านของขบวนรถนายกฯ เมื่อปี 2549 แต่ทีม รปภ.ตรวจพบเสียก่อน ตอนนั้น มีสื่อบางสำนักเรียกว่า คาร์บ๊อง ด้วยไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริง

ขณะที่ในการวิดีโอคอลอวยพรวันเกิดโดย สส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวันพุธ นายทักษิณพูดตอนหนึ่งว่า รายละเอียดให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นคนประสาน เท่ากับมีการประสานงานเกิดขึ้นจริง

วันที่ 10 ส.ค. การเดินทางกลับถึงประเทศไทย อย่างไรเสียความเข้มข้นเรื่องของดูแลความปลอดภัยที่สนามบินต้องมีแน่ ๆ และอาจรวมถึงเส้นทางระหว่างนำตัวส่งเรือนจำ หรืออาจนำตัวไปคุมขังที่ใดที่หนึ่งก่อนรับทราบข้อกล่าวหา แล้วรอขั้นตอนการส่งตัวเข้าเรือนจำ

เท่ากับต้องเข้าเรือนจำก่อนแน่ ๆ ต่อไปจะถูกส่งไปที่ไหน หรือจะมีการจัดเตรียมสถานที่ไว้รับเรียบร้อย อย่างที่เป็นข่าวกันมาก่อนหน้านี้เป็นระยะ ๆ ก็ว่ากันไป ส่วนการตรวจสอบและพิสูจน์ความจริง สำหรับเรื่องได้รับสิทธิแบบวีไอพี จะมีจริงหรือไม่ ต้องได้ลุ้นกันต่อ

ที่สำคัญ วันที่ 10 สิงหาคม ยังตรงกับวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันประชุมสภาฯ ปกติอยู่แล้ว และการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ มักมีขึ้นในวันพฤหัสบดี

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือนายวัน มูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ไม่ติดภารกิจ บินไปร่วมประชุมรัฐสภาอาเซียนที่อินโดนีเซีย หรือส่งคนอื่นไปแทน ก็น่าจะมีประชุมรัฐสภา โหวตเลือกนายกฯ ดังเดิม

แต่กระนั้น ต้องรอลุ้นศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบให้เสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำรอบที่ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในวันที่ 3 สิงหาคมด้วย เพราะจะมีผลต่อวันที่ 10 สิงหาคม

หากไม่รับคำร้อง หรือรับไว้พิจารณา แต่ไม่มีคำสั่งให้ระงับการโหวตเลือกนายกฯ ไว้ก่อน การประชุมวันที่ 10 สิงหาคม ภายใต้การเสนอชื่อนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย อาจปิดจ็อบสำคัญลงได้ในวันนั้น

โดยชื่อนายกฯ ที่จะเสนอ หากฟังจากนายทักษิณ คือนายเศรษฐา ทวีสิน อยู่ทำเนียบ ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” อยู่ที่พรรค เท่ากับการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ต้อนรับการกลับประเทศของนายทักษิณ ไปในตัว

จะมีการฉีกเอ็มโอยูเดิมทิ้ง มีสลับไพ่ล้างขั้วกันใหม่ มีพรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมตั้งรัฐบาล แต่ไม่มีพรรคก้าวไกล และมีแนวโน้ม ไม่เอาพรรค 2 ลุงเข้าร่วม ดังที่นายเศรษฐาประกาศไว้บนเวทีปราศรัย ส่วนประชาธิปัตย์ จะไม่ตกขบวน เพราะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ วันที่ 3 สิงหาคม ทันวันโหวตเลือกถมเถไป แต่อาจ “มัดจำ” รอไว้ปรับ ครม.ครั้งหน้า

แต่จะจริงอย่างที่คนวงในลือกันขณะนี้หรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่สูตรตั้งรัฐบาลทิพย์ อีกไม่กี่วันได้รู้กัน

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์วา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง