การสำรวจพื้นที่ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” จ.เพชรบูรณ์ เกิดขึ้นมานานหลายปี เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
นอกจากจะต้องการรู้ให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่ใต้ดิน และยังไม่มีการขุดค้นอีกบ้าง และที่สำคัญ พื้นที่ในบริเวณนั้น ทับซ้อนอยู่กับชุมชนอย่างไร เพื่อจะได้กำหนดพื้นที่ชัดเจน ลดความขัดแย้งกับชุมชน
สภาวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ เลือกใช้โดรนไลดาร์ (Lidar) ซึ่งเป็นระบบเลเซอร์แสง สำรวจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และพื้นที่โดยรอบอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก เพื่อค้นหาหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี และภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชน
ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักวิชาการที่ใช้โดรนไลดาร์ศึกษาโบราณคดีที่เมืองโบราณศรีเทพ
“อาจารย์แพง” หรือ ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าชุดโครงการสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงประสบการณ์ก่อนจะมาทำงานด้านนี้ว่า
เริ่มต้นจากการเรียนเศรษฐศาสตร์ เพื่อปูพื้นฐานความรู้ และเริ่มขยับมาทำงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรู้สึกตื่นเต้นกับเสน่ห์ของยุคโบราณ โดยเฉพาะในภูมิภาค Mainland Southeast Asia ที่ในอดีตคนไม่ค่อยสนใจพื้นที่นี้ นอกเหนือจากนครวัด
ส่วนตัวมีความรู้สึกชื่นชอบวัฒนธรรมมอญ จึงมาศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ จนกระทั่งได้เจอจุดเชื่อมโยงระหว่างโบราณคดีและเศรษฐศาสตร์ ในการใช้หลักฐานทางโบราณคดีมาเป็นตัวเชื่อมโยงกัน
ในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ก็รู้สึกสนใจเรื่องความเสียหายของมรดกทางวัฒนธรรมในแหล่งวัฒนธรรมเล็ก ๆ ซึ่งไลดาร์มีความสำคัญในการช่วยอนุรักษ์พื้นที่ได้
ภาพจากไลดาร์จะมองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ ทั้งแนวราบและแนวลึกลงไปในพื้นดินทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ด้านล่างอย่างละเอียด
ส่วนตัวค้นพบว่า ถ้าหากไม่มีคนมาสมทบช่วย เรื่องขององคาพยพในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และเลือกสวมหมวกนักเศรษฐศาสตร์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราสนใจหรืออยากเรียนรู้ ก็จะไม่อยู่เหลือรอดให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษาอีก
อาจารย์แพงเล่าต่อว่า ในเวลาต่อมา ก็ตัดสินใจเลือกเรียนปริญญาเอก ต่อที่ประเทศอังกฤษจนจบ และร่วมทำงานในฐานะอาจารย์และนักวิจัยด้าน Sustainable Heritage Data System ทำให้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการสำรวจภูมิประเทศขนาดใหญ่ รวมไปถึงการพัฒนา Data และเรื่องของกฎหมายการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและธรรมชาติ
เมื่อกลับมาที่ไทย จึงอยากจะนำองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนา เท่าที่ความสามารถของเราจะทำได้ พอเรียนจบแล้วการเรียนรู้ก็ยังไม่จบลง เมื่อมาทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ก็ต้องเรียนรู้งานจากสถาปนิก และงานทางวิศวกรรมเพิ่มเติมด้วย
นักวิชาการและช่างเทคนิคจะแบ่งพื้นที่การบินโดรน เพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดมาวิเคราะห์ได้
ทำไมต้องเป็นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
อาจารย์แพง เล่าว่า แหล่งโบราณคดีที่เคยเดินทางไปศึกษาเมื่อตอนที่ทำงานวิจัย คือ ภาคเหนือของไทย สุโขทัย ลงมาจนถึงนครศรีธรรมราช และสงขลา รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและพม่า โดยประมาณกว่า 2 แห่ง
อ.ศรีเทพเป็นพื้นที่ที่โดดเด่น เป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่ในช่วง Rise of states หรือ การขึ้นมาของอารยธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในเมืองโบราณที่มีพื้นที่ใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะใหญ่มาก ประกอบกับศรีเทพในตอนนี้ เป็นพื้นที่ที่เข้าไปอยู่ในแผนของมรดกโลกด้วย
อุปกรณ์ควบคุมโดรนไลดาร์ จะเห็นภาพจากมุมสูง
ซึ่งมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายดังนี้ 1.ทำอย่างไรจึงจะสามารถค้นหาพื้นที่ของโบราณสถานว่ามีความกว้างเท่าไหร่ ในขณะที่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่
2.หากมีความจำเป็นจะต้องขยายเมืองเพิ่ม เช่น การสร้างถนน จะทำอย่างไรให้กระทบแหล่งโบราณสถานให้น้อยที่สุด
ในปัจจุบันจุดที่ตั้งของ อ.ศรีเทพ ก็เป็นทางผ่านที่ค่อนข้างสำคัญ หากนโยบายที่เกี่ยวข้องไม่ถูกแก้ไขและพูดถึง ก็อาจส่งผลให้โบราณสถานศรีเทพ ไปจนถึงโบราณสถานหลายแห่งในไทยได้รับผลกระทบกระเทือน และหายไปในที่สุด
ความน่าตื่นเต้นของไลดาร์คืออะไร
อาจารย์พชรพร กล่าวว่า เป็นเวลาเกือบ 20 ปี แล้ว ที่มีการนำเทคโนโลยีไลดาร์มาใช้งานในโครงการใหญ่ที่นครวัด จากนั้นไลดาร์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาท ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีโดรนมาผนวกใช้ด้วยกัน จึงทำให้ราคาต้นทุนการใช้งานลดลงมากจากอดีต
การขุดสำรวจแต่ละครั้งมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ที่จะพบแหล่งโบราณคดีในลักษณะชั้นประวัติศาสตร์เดียว เมื่อจำเป็นต้องสำรวจหาชั้นหินที่เก่าที่สุด ก็ต้องขุดทำลายทุกชั้นลงไป ทำให้โบราณสถานเสียหาย
การเข้ามาของไลดาร์เป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปวิชาโบราณคดี ในการใช้เทคนิค Non Invasive Archaeology หรือ การวิเคราะห์โบราณคดีโดยไม่ต้องขุดเจาะ ซึ่งจะขุดเจาะเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เป็นการช่วยอนุรักษณ์แหล่งโบราณสถานเอาไว้
เครื่องไลดาร์สามารถตรวจจับว่า พื้นที่โบราณสถานมีความกว้างโดยประมาณเท่าไหร่ เป็นส่วนช่วยในการผนวกความเข้าใจในการศึกษาพื้นที่ ข้อมูลจะเปิดเผยว่า ที่จริงแล้วเรากำลังอาศัยอยู่บนอารยธรรมใดอยู่ โดยที่ไม่ต้องขุดเจาะหรือทำลายมรดกทางวัฒนธรรมใด ๆ
ภาพจากไลดาร์จะมองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ ทั้งแนวราบและแนวลึกลงไปในพื้นดินทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ด้านล่างอย่างละเอียด
เป็นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ครั้งแรกของไทย ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพใช่หรือไม่
ดร.พชรพรกล่าวว่า เคยมีการนำมาใช้แล้วโดยหน่วยงานของรัฐบาลที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และเมืองโบราณยะรัง จ.ปัตตานี แต่การนำมาใช้ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของศรีเทพ และครั้งแรกของการสำรวจเมืองโบราณขนาดใหญ่รูปแบบนี้
ผลการสำรวจของไลดาร์จะออกมาในรูปแบบไหน
ดร.พชรพร กล่าวว่า ไลดาร์จะให้ผลการสำรวจออกมาในรูปแบบโครงสร้าง ที่จะถูกนำมาวิเคราะห์โดยนักวิชาการเพิ่มเติม แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ชั้นลึกที่ยังสำรวจไปได้ไม่ถึง เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากไลดาร์และข้อมูลจากการสำรวจจริงมารวมกันแล้ว เราก็จะมีข้อมูลของพื้นที่ที่จำเป็นต้องได้รับการขุด หรือพื้นที่ที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงได้อย่างแม่นยำ
"ศรีเทพ" ใช้ "โดรนไลดาร์" สำรวจเมืองโบราณครั้งแรก
พิพาทแนวเขต "เมืองโบราณศรีเทพ" ส่อบานปลาย-ไร้ความคืบหน้า
รู้จักไลดาร์กับการวิเคราะห์ร่องรอย “เมืองโบราณศรีเทพ” ครั้งแรกของไทย
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า LiDAR หรือ ไลดาร์ เป็นชื่อย่อของเทคโนโลยีที่มีชื่อเต็มว่า Light Detection and Ranging ซึ่งใช้ตรวจสอบพื้นผิวโลกโดยวิธีการตรวจจับทางไกล (Remote sensing method)
วิธีการทำงานของเทคโนโลยีนี้ คือ ยิงแสงเลเซอร์ไปกระทบกับวัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ เพื่อวัดช่วงระยะทางที่แปรผันกับโลก จากนั้นนำข้อมูลอื่น ๆ ที่บันทึกทางอากาศมาคำนวณร่วมกัน เพื่อสร้างภาพสามมิติลักษณะพื้นผิวโลกได้อย่างแม่นยำ อธิบายอย่างง่ายๆ คือ คล้ายกับการสแกนพื้นผิวโลกโดยเครื่องสแกนเนอร์ที่ติดตั้งไว้บนอากาศนั่นเอง
ภาพจากไลดาร์จะมองเห็นเป็นภาพ 3 มิติ ทั้งแนวราบและแนวลึกลงไปในพื้นดินทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ด้านล่างอย่างละเอียด
ส่วนใหญ่แล้วไลดาร์จะประกอบด้วย ตัวยิงแสงเลเซอร์ ตัวสแกนเนอร์ และตัวรับสัญญาณจีพีเอส จากนั้นติดตั้งกับเฮลิคอปเตอร์หรือโดรน เพื่อใช้บินสำรวจภูมิประเทศขนาดใหญ่ ข้อมูลที่ได้จะอยู่ในรูปแบบจุดหรือ Point Clouds ซึ่งในแต่ละจุดจะประกอบด้วยตำแหน่งทางราบ และทางดิ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์สามารถนำมาสร้างแบบจำลองสามมิติได้
ไลดาร์ถูกใช้ในหลายด้าน เช่น การสำรวจแม่น้ำ มหาสมุทร และภูมิประเทศ ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบเตือนวัตถุรอบข้างก็ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากไลดาร์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่ติดตั้งระบบไลดาร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกล้อง เป็นต้น
ไลดาร์ยังมีส่วนช่วยอย่างมากในงานสำรวจด้านโบราณคดี เพราะช่วยให้นักสำรวจเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ผ่านการบังคับทางไกลได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ พื้นที่แปลงเกษตร และพื้นที่เมือง
โดยตัวลำแสงเลเซอร์ของไลดาร์ สามารถยิงผ่านทะลุยอดไม้ และโครงสร้างอาคารไปจนถึงผิวดินได้ เมื่อนำข้อมูล Point Clouds มาวิเคราะห์ จะสามารถเห็นคูน้ำคันดิน โครงสร้างอาคาร และโบราณสถานที่ซ่อนอยู่ผ่านร่องรอยที่ปรากฏบนผิวดิน
เดือนมกราคม 2565 สภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพและสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันใช้โดรนไลดาร์สำรวจพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตรรอบ ๆ เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อสำรวจร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ของพื้นที่นี้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในอดีต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ก่อนเป็นมรดกโลก