วันนี้ (5 ส.ค.2566) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ ก่อนนำคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เดินทางไปประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย ถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุมสภา เมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ว่า
ไม่ได้รีบปิดหนีการประชุมเพื่อไม่ให้มีการอภิปรายญัตติแก้ไขมาตรา 272 เพราะไม่มีเหตุผลที่ต้องหนี ซึ่งการเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวานนี้ มี 2 วาระ คือโหวตการเลือกนายกรัฐมนตรี และการพิจารณามาตรา 272 ซึ่งวาระการโหวตนายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำได้ เพราะต้องรอกระบวนการ พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 มีความตั้งใจที่จะให้มีการอธิปรายอย่างเต็มที่ แต่ปรากฏว่า ระหว่างการพิจารณาเพื่อเลื่อนวาระ 272 ขึ้นมาพิจารณาก่อนนั้น นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติด่วน เพื่อทบทวนมติ ที่รัฐสภาได้พิจารณาไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เรื่องญัตติไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซ้ำ
ตามข้อบังคับที่ 151 ระบุว่า มติที่สภาพิจารณาเด็ดขาดไปแล้ว ไม่สามารถทบทวนได้ ซึ่งอยู่ในสภาฯ มา 40 ปี ก็ไม่เคยมีการทบทวนญัตติ ที่สภาพิจารณาจบไปแล้วซ้ำ อย่างไม่มีเหตุผล
สอดคล้องกับที่เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลจะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 16 ส.ค. เหลือเวลาอีกเพียง 11 วัน หากนำเรื่องนี้มาพิจารณาก่อนจะเป็นการกระทำที่มิชอบ เพราะจะเป็นการย้อนแย้งกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาเรื่องเดียวกัน
ดังนั้นควรจะรอให้กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก่อน เพราะคำวินิจฉัยของศาลถือเป็นเด็ดขาด และมีความผูกพันกับองค์กรรัฐสภา และในฐานะที่เป็นประธานรัฐสภา ไม่สามารถจะนำองค์กรรัฐสภา ไปสร้างปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ไม่ใช่การมองว่า องค์กรใดใหญ่กว่ากัน แต่ทุกอย่างยึดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
นายวันมูหะมัดนอร์ ระบุเปิดประชุมสภาฯ หลัง 18-19 ส.ค.
ยืนยันว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติ หรือกีดกันฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในการอธิปรายญัตติแก้ไขมาตรา 272 แต่ในฐานะประธานรัฐสภา มองในหลักการพิจารณาตามวาระการประชุม และระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาเพิ่มเติมกับศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้การประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นหลังวันที่ 16 ส.ค. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ซึ่งญัตติทั้งหมดรวมทั้งการพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และแก้ไขมาตรา 272 ยังอยู่ครบถ้วน และจะพิจารณาไปตามนั้น เพียงแต่สิ่งที่กระทำไม่ได้ คือการพิจารณาก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยกรณีญัตติโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำ
ดังนั้นการสั่งปิดประชุมสภาเมื่อวานนี้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยง ย้อนแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้หากธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาในวันที่ 16 ส.ค. ก็จะมีการเรียกประชุมสภาภายใน 3 วัน อาจจะเป็นวันที่ 18 หรือ 19 ส.ค. โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่จะต้องไม่ขัดข้อบังคับ และต้องทำด้วยความสง่างาม และในฐานะประธานรัฐสภาต้องรักษาภาพลักษณ์ของสภา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ภูมิธรรม” ชี้ต้องรีบตั้งรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาให้จบ ประเทศรอด-ทุกคนรอด
"ทักษิณ" เลื่อนวันกลับไทย ชี้ไม่เกิน 2 สัปดาห์จาก 10 ส.ค.