ล่าสุดสุนัขจรจัดใน จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าจะมีการควบคุมอัตราการเกิด แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ ผู้เกี่ยวข้องยังคงไปดูการจัดการสุนัขจรจัด โดยเฉพาะโครงการสุนัขชุมชน
เสื้อยืดที่เป็นเอกลักษณ์ของเจ้าเตี้ย มช. สุนัขขวัญใจคนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกให้กับผู้ที่เคยใกล้ชิด โดยรายได้ทั้งหมดจากการขายเสื้อจะนำเข้ากองทุนดูแลสุนัขในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะนับตั้งแต่เจ้าเตี้ย ตายไปกว่า 3 ปี จำนวนสุนัขจรจัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
น.ส.วราภรณ์ อินสม เครือข่ายดูแลสุนัข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ปัจจุบันหมาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโครงการ Community Dogs ซึ่งเป็นโครงการจัดการสุนัขในมหาวิทยาลัยแบบมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างเป็นระบบ
โดยการสวมใส่ปลอกคอเพื่อแสดงถึงลักษณะนิสัย และกำหนดจุดให้อาหาร เพื่อจัดระเบียบและดูแลเรื่องสุขภาพ พฤติกรรม โดยเตรียมขยายพื้นที่ไปยังนอกรั้วมหาวิทยาลัย และจัดตั้งกลุ่มกองทุนคนรักสุนัข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น เพื่อระดมทุนในการดูแลสุนัขทุกตัว
น.ส.สุภาณี จันทรคำอ้าย พนักงานอาสามูลนิธิ WatchDog Thailand Foundation เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา มูลนิธิ WatchDog Thailand ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหมันให้กับสุนัขจรจัดใน จ.เชียงใหม่ กว่า 600 ตัว แต่มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุมาจากการทิ้งสัตว์เลี้ยง ของผู้ที่ไม่พร้อมด้วยวสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ข้อมูลของปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยผลสำรวจเมื่อปี 2564 มีจำนวนสุนัขและแมวจรจัด ในพื้นที่ 25 อำเภอ 36,859 ตัว แยกเป็น สุนัข 23,954 ตัว และแมว 12,905 ตัว ซึ่งวัดและสถานที่ราชการ ยังเป็นสถานที่ยอดนิยมที่คนมักนำสัตว์ไปปล่อยทิ้งไว้ ทำให้มีปัญหาตามมา ทั้งการเลี้ยงดู แหล่งแพร่ของเชื้อโรค และบางครั้งสุนัขทำร้ายชาวบ้าน