แม้เมื่อวานนี้ (8 ส.ค.2566) กระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า เป็นเพียงการศึกษา ยังไม่มีการเสนอตัดเบี้ยยังชีพ แต่วันนี้ (9 ส.ค.2566) ภาคประชาสังคมจาก 3 กลุ่ม ก็ยังคงเดินทางมากระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันไม่เห็นด้วยกับแนวคิดลดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ เห็นว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ควรยกระดับเป็นระบบบำนาญประชาชนถ้วนหน้า
ภาคประชาสังคมที่มาประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair โดยมีข้อเสนอ 3 เรื่อง ได้แก่
- ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ไปเป็นแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคนยากจน ซึ่งขัดต่อหลักการสิทธิสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
- เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ซ้ำซ้อนกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้ หากปรับลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,000,000 คน จะทำให้ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประมาณ 11 ล้านคน ถูกตัดสิทธิไปกว่า 6,000,000 คน
- การสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ไม่อาจเกิดขึ้นจากการปรับลดสวัสดิการประชาชน ในทางกลับกัน รัฐควรเพิ่มการจัดเก็บรายได้และการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การปฏิรูประบบภาษีและงบประมาณให้มีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ได้แก่ ภาษีความมั่งคั่ง
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า แนวคิดที่มีการเสนอให้ทบทวนผู้ได้รับสิทธิเบี้ยคนชรา เฉพาะในกลุ่มที่เป็นผู้มีฐานะร่ำรวย และไม่ได้มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเบี้ยคนชราในการดำรงชีพ เพื่อนำเงินส่วนต่างที่จะได้มาช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย
เป็นเพียงข้อเสนอในเชิงวิชาการที่มีการเสนอเป็นการภายในเท่านั้น หากจะมีการดำเนินการในอนาคต จะต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าหนึ่งในแผนการตัดรายจ่าย เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว คือการตัดงบผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้า
ที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปีละ 50,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลตั้งงบประมาณเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท ซึ่งหากตัดงบประมาณสำหรับการจ่ายผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป จะช่วยลดงบประมาณได้มาก อย่างไรก็ตาม ยังเป็นประเด็นที่จะต้องไปศึกษาก่อน
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รายงานว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ ราว 12 ล้านคน แต่บ่งชี้สัดส่วนผู้สูงอายุที่ร่ำรวยได้ยาก แต่ถ้าพิจารณาจากกลุ่มที่ไม่มีเงินออมเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จะมีประมาณ 7,200,000-9,600,000 คน หรือ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 60-80
ขณะที่ แผนการแยกผู้สูงอายุที่มีฐานะออกจากการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ที่สำคัญต้องดูว่าภาครัฐจะนำเครื่องใดมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดกรอง ถ้าปรับลดในส่วนผู้สูงอายุที่มีฐานะได้ จะสามารถลดงบประมาณที่ต้องจ่ายราว ร้อยละ 20-40
สำหรับ อัตราการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุปัจจุบัน แบ่งเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ
- อายุ 60 - 69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
- อายุ 70 - 79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
- อายุ 80 - 89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
จากตัวเลขวงเงินงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี เชื่อว่าอีกไม่เกิน 1-2 ปี วงเงินงบประมาณจะทะลุ 100,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงการคลังต้องหาแนวทางลดต้นทุน ปรับลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในอดีต กระทรวงการคลังเคยออกมาตรการชักชวนให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้สูงสละสิทธิรับเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
อ่านข่าวเพิ่ม :
ข่าวดี! ลูกจ้างได้เพิ่มวงเงินเจ็บป่วย 6.5 หมื่น-ปรับเงื่อนไขบาดเจ็บศีรษะ