กระแสของภาพยนตร์เรื่องออปเพนไฮเมอร์ (Oppenheimer) ทำให้ชื่อของนักวิทยาศาสตร์ในยุค “ตื่นวิทยาศาสตร์” ของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นที่ถูกพูดถึงมากมาย ซึ่งในตอนนั้นนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้ามาในสหรัฐฯ จนกลายเป็นแหล่งสร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของโลก นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้เราอาจคุ้นชื่อพวกเขาเป็นอย่างดี เช่น จูเลียส รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ผู้ที่ชีวิตของเขาถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ ตลอดไปจน แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพ เอนรีโก แฟร์มี และเออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิชานิวเคลียร์ฟิสิกส์
แต่หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ฝากผลงานทางฟิสิกส์จนทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศมหาอำนาจด้านวิทยาศาสตร์ ที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้ได้แก่ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์สายเลือดอเมริกันแท้ที่โด่งดังและมีผลงานมากมาย ตั้งแต่การเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์โครงการแมนฮัตตัน การเป็นบุคคลสำคัญของสหรัฐฯ ในการผลักดันการศึกษานิวเคลียร์ฟิสิกส์ และภายหลังคือฟิสิกส์อนุภาค การเป็นหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษากับองค์การนาซา และช่วยสอบสวนอุบัติเหตุกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ ในปี 1968 แต่หนึ่งในบทบาทสำคัญของไฟน์แมน คือการเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) ที่ทำให้เขากลายเป็นอาจารย์คนโปรดของนักฟิสิกส์ทั่วสหรัฐฯ หรือทั่วโลก
หนึ่งในหนังสือของไฟน์แมนที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดนอกเหนือจากบทความทางวิชาการ ได้แก่หนังสือชื่อ “Surely You're Joking, Mr. Feynman!” (ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “คุณกำลังล้อเล่นอยู่แน่ ๆ คุณไฟน์แมน”) ที่เขาเขียนขึ้นในปี 1985 เนื้อหาในเล่ม เขาได้เขียนประวัติเรื่องราวชีวิตของตัวเองผ่านมุมมองการศึกษาธรรมชาติ และได้พูดถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลากหลายเหตุการณ์โดยเฉพาะในตอนที่เขาทำงานในโครงการแมนฮัตตัน ซึ่งก็คือในช่วงที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์
นอกจากการนำเสนอชีวิตส่วนตัวแล้วไฟน์แมนยังเขียนถึงความรักของเขาที่มีต่อวิชาฟิสิกส์และการศึกษาธรรมชาติด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงมีเนื้อหาจิกกัดสังคมและการเมืองสหรัฐฯ ว่ามีความย้อนแย้งในการสนับสนุนพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์อย่างไร รวมถึงมีเนื้อหาที่ฝากความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาโลกให้เจริญก้าวหน้าขึ้นผ่านวิทยาศาสตร์
เนื้อหาดังกล่าวถูกเขียนขึ้นด้วยสำนวนแบบเป็นกันเอง ทีเล่นทีจริง เหมือนอาจารย์กำลังเล่าเรื่องราวและมุมมองโลกให้กับลูกศิษย์ได้ฟัง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในบุคลิกความเจ้าคารมของไฟน์แมนตั้งแต่สมัยที่เขายังหนุ่ม แม้กระทั่งชื่อของหนังสือก็ยังมาจากบทสนทนาของเขากับสาวร้านกาแฟที่แปลกใจที่ไฟน์แมนสั่งชาร้อนคู่กับครีมและมะนาวพร้อมกัน
แต่สิ่งที่แสบสันที่สุดของไฟแมน คือในบทที่ชื่อว่า “Cargo cult science” ที่ถอดบทมาจากสุนทรพจน์ของเขาในปี 1974 ที่พูดถึง “การก้มหน้าบูชาผลลัพธ์” ที่ไฟน์แมนเปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกวงการวิชาการว่าผู้คนต่างสนผลลัพธ์แต่ไม่สนกระบวนการ (ซึ่งเป็นแก่นของวิทยาศาสตร์) และพยายามสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ ขึ้นมาโดยหวังว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง แต่แท้จริงแล้วพวกเขาต่างแค่เลียนแบบสิ่งที่ไม่รู้เลยว่าพวกเขาทำสิ่งนั้นไปทำไม คำว่า “Cargo cult” ที่ไฟน์แมนหยิบมาเป็นชื่อของคำอธิบายปรากฏการณ์นี้นั้นก็มาจากการสังเกตพฤติกรรมของชาวเผ่ากลางเกาะที่ถูกใช้เป็นฐานทัพอากาศ ในช่วงสงครามพวกทหารมักจะนำเครื่องบินมาลงจอดพร้อมกับวิทยาการใหม่ ๆ แต่เมื่อสงครามจบแล้วพวกเหล่าชาวเผ่าก็ยังคาดหวังให้มีเครื่องบินมาลงจอดอยู่ พวกเขาจึงพยายามสร้างสนามบินจำลอง นำเอาไฟมาวางเป็นทางคล้ายไฟจากทางวิ่งของเครื่องบิน หรือสร้างหอสูงที่คล้ายกับหอวิทยุ แต่สุดท้ายสิ่งที่พวกเขาทำกลับไม่ได้นำพาพวกเขาไปไหนเลย เพราะพวกเขาสนใจแต่ “สินค้า (Cargo)” ที่พวกเขาได้รับ ไม่ใช่ “กระบวนการการผลิตเครื่องบิน” เท่ากับว่าหอคอยและทางวิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นนั้นสูญเปล่าและไร้ประโยชน์
แนวคิดดังกล่าวส่งผลต่อแนวคิดในการวางนโยบายด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งบรรดานักฟิสิกส์ในยุคนั้นก็ต่างอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นไปในทำนองเดียวกัน เอนรีโก แฟร์มีเอง ยังเคยกล่าวว่า “งานวิจัยวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้ปกป้องประเทศนี้ (สหรัฐฯ) แต่งานวิจัยวิทยาศาสตร์จะทำให้ประเทศควรค่าแก่การปกป้องตะหาก”
“Surely You're Joking, Mr. Feynman!” จึงกลายเป็นหนังสือที่หลายสำนักยกย่องในฐานะอิทธิพลสำคัญต่อมุมมองของคน ให้เห็นคุณค่าของงานวิจัยและวิทยาศาสตร์ในแบบที่มันควรจะเป็น
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech