โลกออนไลน์พากันแชร์ปฏิบัติการเคลื่อนย้ายพลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย ช้างป่า เจ้าของฉายา "ตัวตึงกรุงชิง" เนื่องจากชอบออกหากินพืชผลการเกษตรในละแวกพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เดือดร้อนมานานกว่า 2 ปีจนชาวบ้าน 104 คน ใน ต.กรุงชิง อำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชให้ย้ายช้างออก
จับ พลายไข่นุ้ย ตัวตึงกรุงชิง-รอหาบ้านใหม่
นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า พลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย เป็นช้างป่าตัวผู้อายุ 8-10 ปีน้ำหนักประมาณ 2-2.5 ตัน ความสูงประมาณ 2-2.3 เมตร ได้รับฉายาว่า "ตัวตึงกรุงชิง" เนื่องจากเป็นช้างที่หากินในอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จ.สุราษฎร์ธานี และหากินไกลถึงพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช
เจ้าหน้าที่วางยาซึม ใช้ช้างบ้านมาเป็นตัวล่อพาขึ้นรถเคลื่อนย้ายออกจากป่า
นายอรรถพล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้พลายเจ้างา กลับเข้าป่าบ่อยครั้ง แต่พลายเจ้างา ก็ไม่ยอมกลับติดใจในรสชาติผลไม้ และพืชผลการเกษตร และเข้าอาละวาด รื้อค้นในบ้านชาวบ้าน
ถือเป็นช้างเกเร และสร้างความเดือดร้อนมาก ทำลายและกินพืชผล ที่ผ่านมามีการผลักดันเข้าป่า แต่พฤติกรรมช้างเปลี่ยนไปแล้ว ติดใจในรสของอาหารและมีพฤติกรรมเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายช้างป่าแต่ละตัวต้องทำตามหลักวิชาการ ให้เกิดความปลอดภัยทั้งคน และช้าง และไม่กระทบกับการเคลื่อนย้ายช้างไปไว้อีกจุดหนึ่ง ที่ผ่านมามีการเคลื่อนย้ายช้างที่หากินนอกพื้นที่บ่อยครั้งในป่า เช่น สีดอแก้วในป่าตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี แต่ก็ยังกลับออกมา
พลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย ตัวตึงกรงชิง หลังเริ่มนิ่ง สัตวแพทย์ดูแลใกล้ชิด
กรณีพลายเจ้างา หรือไข่นุ้ย หลังมีคำสั่งศาลปกครอง ได้มีการติดตามตัว 1-2 วันก่อนจะพบในจุดที่ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน สัตวแพทย์ใช้ยาซึม จนช้างเริ่มนึ่ง จึงนำเชือกผูกขา และใช้ช้างบ้านมาเป็นตัวนำขึ้นรถออกมาจากพื้นที่ได้สำเร็จโดยขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายมาไว้ที่หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย อ.นบพิตำ จ. นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจุดพักเพื่อตรวจสุขภาพช้างป่า
ตอนนี้มาอยู่บริเวณหน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย ชั่วคราวก่อน และกำลังหาบ้านที่เหมาะสมอีก 1 เดือน สาเหตุเพราะชาวบ้านไม่อยากให้นำกลับไปปล่อยที่อาศัยเดิมคืออุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น แต่จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าดูใกล้ชิด
นำตัวมาพักที่หน่วยจัดการต้นน้ำคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช รอหาบ้านที่เหมาะสม
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับช้างป่าที่หากินนอกพื้นที่ ทั้งที่เป็นตัวตึง และจ่าฝูง กรมอุทยานฯมีการติดปลอกคอจีพีเอส เพื่อติดตามพฤติกรรมการหากินนอกพื้นที่ และคอยติดตามตัวได้หากใกล้ชุมชน เพื่อป้องกันปัญหา และตอนนี้ต้องพื้นที่เหมาะสมสำหรับพลายเจ้างา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อต้าน
สำหรับกรณีของพลายเจ้างา ที่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 ก.ค.2566 มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปฏิบัติหน้าที่ในการจับและเคลื่อนย้ายนำช้างป่าพลายเจ้างา หรือพลายไข่นุ้ย ช้างป่าไปไว้ในที่เหมาะสม ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และให้รายงานต่อศาลทุก 5 วัน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเสนอต่อศาลก่อนภายใน 5 วัน
พบขาหลังข้างขวามีลักษณะบวม พบแผลตุ่มนูนขนาด 3 ซม. 2 จุด บริเวณสะโพกขวา พบบาดเจ็บบริเวณปลายงวง เป็นแผลฉีกขาด 2 ใน 3 ของวงรอบงวง ไม่มีการอักเสบ บวม แดง และไม่สามารถเชื่อมติดได้แล้ว
อัปเดตอาการพลายเจ้างา
จากตรวจสุขภาพของช้างป่าเบื้องต้น พบว่าขาหลังข้างขวามีลักษณะบวม พบแผลตุ่มนูนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร จำนวน 2 จุด บริเวณสะโพกขวา พบการบาดเจ็บบริเวณปลายงวง เป็นแผลฉีกขาดขนาดความยาวของแผลประมาณ 2 ใน 3 ของวงรอบงวง แต่บาดแผลดังกล่าวเป็นลักษณะขอบเรียบจากการโดนวัสดุบาด เป็นแผลเก่า ไม่มีการอักเสบ บวม แดง และไม่สามารถเชื่อมติดได้แล้ว แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต และการหากินของช้างป่า ยังสามารถใช้งวงในการหยิบจับอาหารเข้าปาก และดูดน้ำเข้าปากได้อย่างเป็นปกติ และได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพเพิ่มเติม
ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันลงความเห็นว่า ช้างป่าพลายเจ้างา ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องอยู่พักเพื่อดำเนินการรักษาอาการบาดเจ็บดังกล่าว โดยอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสัตวแพทย์ และสัตวบาล จนกว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงดีขึ้น และจึงเคลื่อนย้ายไปปล่อยไว้ยังสถานที่ที่มีความเหมาะสมอื่น