เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผอ.สวทช.ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซา (JAXA) มีนายทาเคฮิโระ นากามูระ ผอ.องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ที่ปลูกโดยใช้เมล็ดที่ผ่านการท่องอวกาศนาน 7 เดือน ให้แก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐรวม 22 แห่งทั่วประเทศ
ดร.จุฬารัตน์ กล่าวว่า สวทช. เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ รับต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ นำไปปลูกเปรียบเทียบกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ เพื่อร่วมศึกษาวิจัยและติดตามการเจริญเติบโตของเมล็ดราชพฤกษ์อวกาศ
สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศ สวทช.โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือกเมล็ดราชพฤกษ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 360 เมล็ดให้แก่ JAXA เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2562 เพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบร่วมกับเมล็ดพันธุ์พืชจากอีก 11 ประเทศ
เมล็ดต้นราชพฤกษ์ทั้ง 360 เมล็ดส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ในวันที่ 7 ธ.ค.2563 โดยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA เป็นเวลา 7 เดือน ก่อนจะส่งกลับถึงพื้นโลกในวันที่ 10 ก.ค.2564
เนื่องจากราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ที่มีความหมายต่อคนไทย ในฐานะ ดอกไม้ประจำชาติอีกทั้งดอกราชพฤกษ์ยังมีสีเหลืองงดงาม เป็นสีประจำคณะวิทยาศาสตร์ในหลายมหาวิทยาลัย ทาง สวทช. ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์ จำนวน 360 เมล็ด อย่างไรก็ตามหวังว่าการส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศให้แก่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาในครั้งนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้เยาวชน และประชาชนไทยได้เรียนรู้และใกล้ชิดเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศ มีหน่วยงานและสถาบันการศึกษาผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 80 แห่ง ซึ่งในครั้งนี้ได้ส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์รอบสุดท้ายจำนวน 22 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่
- สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
- สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
- สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
- สำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.)
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- ศูนย์การเรียนรู้ริมฝั่งสาย (วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสบสาย)
- โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม
- โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา มหาวิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร์ศาสตร์
- ภาควิชาเทคโนโลยีทางภาพและการพิมพ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
- ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี,มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
- มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
- มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ส่วนดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือการเพาะกล้าราชพฤกษ์อวกาศ และการศึกษาวิจัยว่า ได้ให้การดูแลราชพฤกษ์อวกาศ ณ โรงเรือนวิจัยของภาควิชาพฤกษศาสตร์ในพื้นที่ศาลายา
สำหรับดำเนินโครงการราชพฤกษ์อวกาศ มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต้นราชพฤกษ์อวกาศที่แจกจ่ายไปยังหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะสามารถเจริญเติบโตอย่างงดงามต่อไป เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนของประเทศไทย และความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ
สามารถติดตามรายละเอียดโครงการราชพฤกษ์อวกาศได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และเฟซบุ๊ก NSTDA SPACE Education