กรณีราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา ปรับเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยัง ชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ให้คุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่า " เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด"
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเวทีรับฟังความเห็นสมาชิกต่อกรณีดังกล่าว นายนิมิตร์ เทียนอุดม รองประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขอคัดค้านการเปลี่ยนแปลงผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุดังกล่าว ถือว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง หลังจากที่พัฒนาการของเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ ถือเป็นสิทธิที่ได้รับกันถ้วนหน้าตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2552 โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติด้านรายได้
การปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพให้เป็นเรื่องรายได้ หรือความยากจนเป็นการถอยหลังลงคลอง จากเดิมที่เบี้ยยังชีพเป็นสิทธิถ้วนหน้าเห็นว่าควระจ่ายเบี้ยยังชีพแบบถ้วนหน้า
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรจะต้องมีการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นกฎหมายบำนาญถ้วนหน้าเพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชน และควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อให้รองรับสิทธิพื้นฐานประชาชนอย่างถ้วนหน้า
อ่านข่าว ห่วงสวัสดิการไม่ตอบโจทย์ ผลักผู้สูงอายุใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเพิ่ม
ชี้เบี้ยยังชีพสิทธิพื้นฐานอายุ 60 ปี
ด้านผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลักประกันรายได้ของประชาชนที่เป็นผู้สูงอายุที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเห็นว่ามีความสำคัญคือ เรื่องของการมีงานทำ เพราะคนอายุ 60 ปี สามารถทำงานได้ รวมไปถึงเงินอุดหนุนที่เพียงพอในการดำรงชีพของผู้สูงอายุ และการเข้าถึงบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐสำหรับทุกคน
ทั้งนี้การสนับสนุนรายได้ของผู้สูงอายุ ควรจะเป็นสิทธิถ้วนหน้า ไม่มีเกณฑ์เรื่องรายได้ และต้องผลักดัน คือการทำให้การจ่ายเบี้ยยังชีพถ้วนหน้า เป็นกฎหมายบำนาญพื้นฐาน เพื่อสร้างหลักประกันสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ
ต้องผลักดันระบบบำนาญประชาชนเป็นหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องนี้อยากเห็นนโยบายรัฐบาลใหม่ ผลักดันในเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนคนไทย
อ่านข่าว"เบี้ยผู้สูงอายุ 2566" เช็กคุณสมบัติ - วิธีลงทะเบียน - ปฏิทินการจ่ายเงิน
ดร.กติกา ทิพยาลัย นักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นมากเกือบ 10% การจัดสวัสดิการในรูปแบบบำนาญประชาชนถ้วนจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม และผู้สูงอายุจำนวนไม่มากนักที่มีเงินออมที่ใช้ได้เพียง 1 ปี ดังนั้นการจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุควรจะเป็นการจ่ายถ้วนหน้า หรือการตั้งกองทุนบำนาญประชาชนในอนาคตจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีได้
อัตราที่จะให้ดำรงชีพอยู่ได้ ต้องมีเงินจำนวนต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,800 บาทหรือระดับ 3,000 บาท ในกลุ่มที่ไม่มีระบบบำนาญ หรือมีสิทธิจากสวัสดิการอื่น
ดร.กติกา กล่าวอีกว่า รูปแบบ การจัดสวัสดิการบำนาญควรจะเป็นแบบถ้วนหน้า
เพราะเห็นว่าระบบบำนาญช่วยสร้างหลักประกันรายได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และมีผลกระทบเชิงบวกในมุมมองเศรษฐกิจ เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการบริโภค จึงถือว่ากระตุ้นการผลิตทางอ้อม และผู้สูงอายุพึ่งพิงตัวเองได้ไม่ต้องพึ่งพิงลูกหลาน ส่งผลดีต่อประชากรวัยแรงงาน
เงินจากผู้สูงอายุที่จ่ายไปในระบบบำนาญ จะหมุนเวียนการคลังการจ้างงาน และผลิตสินค้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาครัฐได้กลับมาในรูปแบบภาษีเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าหรือ 600,000 ล้านบาทในแต่ละปี
แนะจัดเก็บภาษีอีก 1% ช่วยอุดหนุน
ส่วนการจ่ายบำนาญประชาชนจะกระทบภารการคลัง หรือไม่ ดร.กติกา กล่าวว่า ขณะนี้เบี้ยบังชีพผู้สูงอายุ 11 ล้านคน รัฐจ่ายงบ 80,000 ล้านบาท ขณะที่บำนาญราชการ 800,000 คน รัฐต้องจ่าย 300,000 ล้านบาท แต่หากมีกองทุนบำนาญประชาชน 3,000 บาท รัฐต้องใช้งบ 400,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มากเกินไปในการสร้างหลักประกันให้กับผู้สูงอายุ ไม่เป็นภาระทางการคลัง
ดร.กติกา เห็นว่า รายได้ที่จะเข้ามาที่กองทุนบำนาญ เพื่อจ่ายสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุมาจากหลายรูปแบบ ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กับสินค้าที่ฟุ่มเฟือยไม่ใช่สินค้าจำเป็น หากรัฐเก็บภาษีเพิ่ม 1% จะมีรายได้เพิ่ม 70,000-100,000 ล้านบาท
ขณะที่กรมสรรพามิตร สามารถนำเงินสมทบเข้ากองทุนฯได้เช่นกัน โดยสามารถขยายฐานภาษีในรูปแบบอื่นๆ เช่น ความหวาน ความเค็ม ภาษีสุขภาพ เราขยายฐานภาษีสมทบเข้ากองทุนบำนาญ
นอกจากนี้มีตัวอย่างในประเทศชิลี ที่เก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูง ตามหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข มาสมทบกองทุนบำนาญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้ ดังนั้นจึงเห็นว่า การตั้งกองทุนบำนาญประชาชนจะไม่กระทบภาระการคลังหากมีการจัดระบบภาษีและการจัดเก็บรายได้ใหม่
อ่านข่าว มท. ชี้แจง 3 ประเด็น คลายข้อสงสัย "เบี้ยผู้สูงอายุ"
หนุนสวัสดิการบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สมาชิกสภาองค์กรของผู้โภคส่วนใหญ่ เห็นว่าควรจะมีการจัดทำนโยบายสวัสดิการบำนาญประชาชนแบบถ้วนหน้า 3,000 บาท เพื่อคุณภาพชีวิตของผุ้สูงอายุ นอกจากนี้ยังเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยควรจะยกเลิกเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ใช้รายได้เป็นเกณฑ์พิจารณา แต่ควรจ่ายผู้สูงอายุทุกคนแบบถ้วนหน้า
หลังจากรับฟังความคิดขอสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการนโยบายของสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อ จัดทำข้อเสนอทางนโยบายเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป