ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เบื้องลึก 16 สส.งูเห่า “ค่ายสีฟ้า” อวสาน 77 ปี ปชป.?

การเมือง
23 ส.ค. 66
16:14
12,620
Logo Thai PBS
เบื้องลึก 16 สส.งูเห่า “ค่ายสีฟ้า” อวสาน 77 ปี ปชป.?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นาทีนี้ใครจะอยู่ และใครจะไป ระหว่าง “ชวน หลีกภัย” ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และ “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ - ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ที่เปิดไฟเขียวให้ 16 งูเห่า สส.โหวตสวนมติพรรคฯ หนุน “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 ภายใต้ร่มเงาของพรรคเพื่อไทย

“...เราต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด 3-4 สมัย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ที่เขากลั่นแกล้งตัดงบประมาณ การพัฒนาพื้นที่ ผมต้องทำหนังสือหลายฉบับถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้จัดงบทดแทนเพื่อชดเชยพัฒนาภาคใต้ให้ทัดเทียมภาคอื่นๆ ที่เราขาดไป

...การโหวตวันนี้ มิใช่การขัดต่อมติพรรค แต่ย้ำจุดยืน ไม่ทรยศคนใต้ เพราะพฤติการณ์ในอดีตของรัฐบาลยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ มีการเลือกปฏิบัติต่อภาคใต้ ละเมิดหลักนิติธรรม รวมถึงการรณรงค์หาเสียงของพรรคเรา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ก็หยิบยกประเด็นนี้มาพูดจนคนใต้ไม่เลือกพรรคการเมืองของคนกลุ่มนี้ตลอดมา” ชวน กล่าวหลังการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้น

เขาย้ำว่า ไม่น่าเชื่อว่า สส.ของพรรค ปชป.ชุดนี้ จะโหวตออกมาอย่างนี้...แต่ที่น่าตลกเพราะคนในกลุ่มนี้บางคนขู่ผมไว้ ตอนที่เขาจะไปร่วมว่าต้องทำตามมติพรรค หากใครไม่ทำตามมติพรรคต้องเอาออก วันนี้ผมไม่ได้ทำผิดมติพรรคแต่อย่างใด เพราะขออนุญาตที่ประชุมพรรคแล้วว่าจะขอไม่โหวตให้ และพรรคก็ได้มีมติงดออกเสียง แต่วันนี้สิ่งนี้กลับย้อนไปที่ตัวเขาเอง ด้วยการขัดมติพรรคเสียเอง

หากถอดรหัสคำพูดของ ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วัย 85 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเมืองมาตลอดชีวิตและไม่เคยย้ายพรรคไปไหน พอจะมองเห็นชะตากรรมของ สส.พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ว่า เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงมาก

และหากภายในพรรคยังไม่มีการปรับเปลี่ยน เพื่อรองรับสถานการณ์ข้างหน้า อาจเป็นการปิดฉากพรรคเก่าแก่ที่เคยเป็นสถาบันการเมืองมายาวนานก็ได้

ร้อยร้าวลึกของพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ส่งสัญ ญาณผ่านการเลือกหัวหน้าพรรคฯ คนใหม่ แทน จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรคฯ ที่พ่ายยับในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาหลายครั้ง ตั้งแต่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคฯ ต้องการส่ง “นราพัฒน์ แก้วทอง” ลงชิง หัวหน้าพรรคฯ โดยมีกลุ่ม 21 สส.ของเดชอิศม์ เป็นกองหนุน

ขณะที่กลุ่มอาวุโส ชวน-บัญญัติ บรรทัดฐาน ขั้วอนุรักษ์หลักการ ต้องการให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รีเทิร์นกลับมากอบกู้นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง จึงทำให้การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคฯ เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. ล่มอย่างไม่เป็นท่าถึง 2 ครั้ง

ศึกในค่ายสีฟ้าระลอกแรกยังไม่จบ หัวหน้าพรรคฯ ยังไม่ได้ แต่ผลการยิงตรงโหวตสวนมติพรรคฯ ของกลุ่ม 16 สส.งูเห่าแบบ นอกจากจะส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มอาวุโสแล้ว

ยังมีคำถามว่า ระหว่าง “ชวน-บัญญัติ” และกลุ่ม 16 สส. ฝ่ายไหนจะถูกขับออก หรือต้องลาออกจากพรรค หากไม่ทั้งสองกรณี แต่คนสองกลุ่มยังอยู่ในพรรคเดียวกัน จะอยู่ร่วมกันอย่างไร ในลักษณะไหน

และกรณีที่ 16 สส.ยกโขยงไปเป็นอะไหล่ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย จะไปในนามพรรคหรือส่วนตัวและ สส.ที่เหลืออยู่ในพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาได้อย่างไร

มีคำถามว่า เหตุใด สส.ค่ายสีฟ้า 16 เสียงจึงกล้าโหวตสวนมติพรรค และเหตุใดการเข้าไปขอโหวตเพิ่มจึงเกิดขึ้นหลังจาก สว.สาย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เสียงไม่ครบตามนัด ขณะที่ “ลุงป้อม” และ “บิ๊กป็อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ก็ไม่ได้ปรากฏตัวในสภา 

คงมีเพียงกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ ไผ่ ลิกค์ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคฯ

ท่ามกลางข้อครหา “ทันขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย” ของกลุ่มเดชอิศม์และพวก มีข้อมูลปรากฏระหว่างการโหวตในสภากลุ่มของ “เดชอิศร์” ไปเจรจากับ ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทยว่า จะโหวตเสริมเพื่อหนุนเศรษฐา

แต่ข้อเท็จจริง คือ ตัวกลางที่นัดดีลตัวจริงคือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่มีชื่ออยู่ในโผเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เช่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัส สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ด้วยเช่นกัน

การเมือง คือ เรื่องผลประโยชน์ และโหวตฟรีไม่มีในโลก จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าว “เพื่อไทย” เตรียมถีบทิ้ง “พลังประชารัฐ” เนื่องจากแบ่งเค้กเกรดเอยังไม่ลงตัว จึงนำ สส.16 งูเห่าเข้ามาแลก 1:1 เก้าอี้รมว : รมช. ซึ่งน่าจะลงตัวมากกว่า

เพราะวินาทีนี้ คงไม่มีใครอยากจะเป็นฝ่ายค้าน แม้พรรคเก่าแก่อายุยาวนานถึง 77 ปี อย่างประชาธิปัตย์ จะแตกยับเยิน และต้องปิดฉากลงชั่วคราวไปก่อนก็ตาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง