หลายปีที่ผ่านมา "แว่นตากรองแสงสีฟ้า" จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยมีงานวิจัยสนับสนุนว่าแว่นกรองแสงสีฟ้าชนิดนี้จะช่วยป้องกันแสงสีฟ้าที่ออกมาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์มือถือ ที่หากดวงตาได้รับแสงเหล่านี้มากเข้าจะทำให้มีอาการปวดตา ส่งผลเสียต่อสุขภาพตา และมีผลต่ออาการนอนหลับในช่วงกลางคืน ล่าสุด นักวิจัยได้เปิดเผยผลการวิจัยใหม่ที่ให้ข้อสรุปตรงกันข้าม แว่นตาป้องกันแสงสีฟ้าอาจไม่ได้ช่วยลดอาการปวดตาจากการจ้องหน้าจออย่างที่คิด
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) และมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) ได้ศึกษาผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ 17 ฉบับจาก 6 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้แว่นตาที่ป้องกันแสงสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นการศึกษาแบบสุ่มที่มีขนาดตั้งแต่ 5 ถึง 156 คน และแต่ละการศึกษาเกิดขึ้นในช่วงเวลาน้อยกว่า 1 วัน หรือไม่เกิน 5 สัปดาห์
ผลการทบทวนงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า ไม่สามารถสรุปได้ว่าแว่นตากรองแสงสีฟ้านั้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตาโดยรวม คุณภาพการนอนหลับ หรือประสิทธิภาพการมองเห็น แม้จะมีคำกล่าวอ้างทางการโฆษณาเกี่ยวกับคุณประโยชน์จำนวนมากก็ตาม อีกทั้งเลนส์ดังกล่าวยังมักถูกกำหนดไว้ใช้สำหรับผู้ป่วยโดยนักตรวจวัดสายตาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการใช้แว่นกรองแสงสีฟ้านั้นไม่ได้ถูกสนับสนุนให้ใช้กับคนทั่วไป แต่เป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญด้านสายตามากกว่า
นักวิจัยชี้ว่าจากที่ได้ทบทวนงานวิจัยที่มีในปัจจุบันเกี่ยวกับแว่นตากันแสงสีฟ้า พบปัญหาว่ายังไม่มีงานวิจัยใดที่ได้รับการตรวจสอบด้วยระยะเวลาติดตามผลนานเพียงพอสำหรับนักวิจัยที่จะสามารถใช้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แว่นตานี้ในระยะยาวได้ ดังนั้นการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพสูงพร้อมการติดตามผลที่ยาวนานขึ้นในกลุ่มประชากรที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ยังคงมีความจำเป็นต่อการยืนยันผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้นของการใช้เลนส์แว่นตากรองแสงสีฟ้าต่อการมองเห็น การนอนหลับ และสุขภาพตา
ทั้งนี้ นักวิจัยยังมีการตั้งคำถามเพิ่มเติม แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่มีคุณภาพ ได้รับการติดตามผลที่ยาวนานกว่าที่เคยมี เลนส์แว่นตากรองแสงสีฟ้าก็ยังคงถูกตั้งคำถาม เนื่องจากปริมาณแสงสีฟ้าที่ดวงตาของเราได้รับจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นั้น มีปริมาณเพียง 1 ใน 1,000 ของแสงที่เราได้รับจากแสงธรรมชาติ และควรคำนึงถึงการกรองแสงสีฟ้าที่หากต้องกรองแสงในระดับที่สูงขึ้นจะต้องใช้เลนส์ที่มีโทนสีเหลืองอำพันชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรับรู้สี
ที่มาข้อมูล: newatlas, scmp, cnn, gearrice
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech