วันนี้ (28 ส.ค.2566) นายทศพล พรหมเกตุ รองหัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมกับตัวแทนพรรค ยื่นหนังสือถึงอัยการสูงสุดให้ตรวจสอบคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พบว่ายังมีคดีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ถูกกองทัพบกยื่นฟ้องไว้ และคดียังค้างอยู่ในชั้นอัยการ
นายทศพล กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ที่กองทัพบกยื่นฟ้องนายทักษิณ ข้อหาความผิดหมิ่นสถาบันเบื้องสูงตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ จากประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปี 2552 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง และการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีผลกระทบต่อกองทัพบก คดีนี้ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558 และมีอายุความ 15 ปี
นายทศพล กล่าวอีกว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ ทำให้อัยการสูงสุด ต้องมีส่วนรับผิดชอบคดี และก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อปี 2560 ไปแล้ว แต่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ตำรวจ ปอท.จึงขอศาลออกหมายจับไว้แล้ว
แต่นายทักษิณ ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดทบทวนความเห็นดังกล่าว จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี และอยากให้อัยการสูงสุดยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทุกคน
อ่านข่าว "ทักษิณ" ยังนอน รพ.ตำรวจ ให้ญาติเข้าเยี่ยม 28 ส.ค.
คัดค้านพระราชทานอภัยโทษ "ทักษิณ"
ขณะที่นายอนันต์ สาครเจริญ เหรัญญิกพรรคไทยภักดี พร้อมด้วยตัวแทนพรรคไทยภักดี ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ขอคัดค้านการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ เนื่องจากมีกระแสข่าวและมีความเป็นไปได้ว่านายทักษิณ จะทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแบบเฉพาะรายบุคคล พรรคไทยภักดีจึงขอคัดค้านการขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
ข้อ 1 นายทักษิณ ต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีทุจริตคอรัปชันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศมากถึง 4 คดี เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมหลายวาระเป็นการทำลายหลักธรรมาภิบาลของประเทศ สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ และยังมีพฤติกรรมหลบหนีคดีไปต่างประเทศ ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม การขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ข้อ 2 จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรง เป็นการสร้างความอยุติธรรมขึ้นมาในประเทศ สร้างความเหลือมล้ำ ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชนทำให้วาทกรรมที่ว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" ปรากฏเป็นจริงขึ้นมา ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวยุติธรรม จะต้องดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม อย่างเคร่งครัด
และข้อ 3 ในสมัยที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาอยู่ในตำแหน่ง รวม.ยุติธรรม ได้ยึดนโยบายที่จะไม่ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ต้องขังในคดีทุจริตคอรัปชัน เพื่อที่จะธำรงรักษาหลักธรรมาภิบาลแห่งรัฐไว้อย่างหนักแน่นมั่นคง ซึ่งควรเป็นนโยบายที่หน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมจะต้องสืบทอดเอาไว้
นอกจากนี้นายอนันต์ ยังเชื่อว่า นายทักษิณ ไม่ได้มีอาการป่วยที่รุนแรงจริง เป็นเพียงการเลือกปฏิบัติให้กับผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเท่านั้น
อ่านข่าว
"เศรษฐา" เผย โผ ครม. นิ่งแล้ว ส่งดูคุณสมบัติวันนี้ อุบ รมว.กลาโหม