ภาพของพญ้าแรง "ป๊อก-มิ่ง" กลางป่าซับฟ้าฝ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ที่กำลังช่วยกันคาบกิ่งไม้ขึ้นทำรังบนต้นไม้สูงที่สุด หลังผ่านการฮันนีมูนกลางป่ามากว่า 1 ปี
ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่ทีมวิจัยพญาแร้งเฝ้ารอคอยข่าวดี และลุ้นว่าพญาแร้งคู่นี้จะให้กำเนิดลูกพญาแร้งตัวน้อย ลืมตามาดูโลกกลางป่าถิ่นกำเนิดในรอบ 30 ปี ได้หรือไม่
ป๊อกกับ มิ้ง คู่ขวัญไปฮันนีมูนที่ห้วยขาแข้ง ถือเป็นตำนาน กว่าจะนำจากกรงเลี้ยงในสวนสัตว์ไปอยู่ในกรงขนาดใหญ่กลางป่าห้วยขาแข้ง ให้ทั้ง 2 ตัวได้สัมผัสดิน น้ำฝนในป่า พฤติกรรมในกล้องวงจรปิด 2 ตัวพยายามทำรังบนยอดไม้ที่สูงขึ้นช่วยกันขนกิ่งไม้ไปวาง แนวโน้มแบบนี้หวังว่าถ้าโชคดีจะได้เห็นลูกพญาแร้งในป่าตัวแรก
ภาพบรรยากาศ ป๊อก-มิ่ง จับคู่กันในป่าห้วยขาแข้ง หลังปล่อยกว่า 1 ปีเศษ
อรรถพร ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การที่พญาแร้งป๊อก และมิ่ง ไปทำรังด้วยกัน หมายถึงโอกาสที่เขาจับคู่กันได้ไม่ทะเลาะกัน ช่วยกันสร้างบ้านที่ป่าห้วยขาแข้ง ตอนนี้ทุกคนกำลังรอคอยข่าวดีนี้ เพราะพญาแร้งเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่สำคัญของห้วยขาแข้ง พวกมันเคยมีชีวิตกลางป่าธรรมชาติที่นี่ก่อนจะสูญพันธุ์ไปเมื่อ 30 ปีก่อนจากการถูกวางยาเบื่อล่าสัตว์ในป่าทำให้มันตายยกฝูง
อ่านข่าว 30 ปีฟื้นฟู “พญาแร้ง” คืนป่าห้วยขาแข้ง
ย้อนกลับไปในปี 2565 ทีมวิจัยพญาแร้ง ซึ่งมาจากหลายหน่วยงานทั้งสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ชุบชีวิตพญาแร้งที่เหลืออยู่เพียง 6 ตัวในกรงเลี้ยงของสวนสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะจับคู่พญาแร้งตัวผู้ชื่อป๊อก และตัวเมียชื่อมิ่ง ทดลองเทียบคู่กัน และนำไปปล่อยในกรงขนาดใหญ่กลางหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า ห้วยขาแข้งเมื่อ 14 ก.พ.2565
พญาแร้งคู่แรก ป๊อก-มิ่ง ที่ถูกนำไปปล่อยกลางป่าซับฟ้าผ่า ห้วยขาแข้ง เมื่อ 14 ก.พ.2565
พัฒนาการที่ผ่านมากว่า 1 ปี กลางป่าธรรมชาติ ไม่มีเสียงรบกวนของมนุษย์ ทำให้พญาแร้งคู่นี้ สามารถปรับตัวในบ้านหลังเก่าของพวกมัน และปรับการใช้ชีวิตร่วมกันได้เป็นอย่างดี จะเป็นโอกาสดีเมื่อเลียนแบบธรรมชาติใกล้เคียงทำให้ได้ลูกนกได้ในธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นโยชน์ในการอนุรักษ์ประชากรพญาแร้งในธรรมชาติต่อไป
จากการปรับตัวมาแล้ว 1 ปีเราอาจจะได้ลูกพญาแร้งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง ห้วยขาแข้งเป็นที่ถิ่นอาศัยเดิมที่เคยมีฝูงพญาแร้งอาศัยอยู่ก่อนจะสูญพันธุ์จากธรรมชาติ
อ่านข่าว ตัวแรกในไทย! "ลูกพญาแร้ง" เกิดในสวนสัตว์โคราชในรอบ 30 ปี
อรรถพร ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์ ชี้ให้เห็นพัฒนาการลูกแร้ง ตัวแรกในไทย จากกรงเลี้ยง
"เจ้าเหม่ง" ลูกพญาแร้งตัวแรกในไทย
ขณะที่ความหวังของทีมวิจัยไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ แต่ยังทำงานคู่ขนานไปพร้อมกันโดยสวนสัตว์นครราชสีมา สามารถให้กำเนิด "ลูกพญาแร้ง" ตัวเมียตัวแรก จากการฟูมฟักไข่ 1 ใน 2 จากพ่อและแม่พญาแร้งในกรงเลี้ยงชื่อแจ็ค และแม่ชื่อนุ้ย ได้สำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลก โดยลูกพญาแร้งผ่านการฟักไข่ตั้งแต่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ใช้เวลาราว 50 วันลูกพญาแร้งตัวแรกฟักออกมาเป็นตัว เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความดีใจของทีมเจ้าหน้าที่ที่ฟูมฟัก
อรรถพร บอกว่า ตอนนี้ลูกพญาแร้งอายุ 5 เดือน 13 วันสุขภาพดีมาก กำลังซนน่ารักมี พัฒนาการในทิศทางบวก ขนเริ่มเต็มตัว ปีกกางออกมาสมบูรณ์ กำลังเริ่มฝึกหัดบิน พฤติกรรมขยับเป็นนกโตแต่ยังถือเป็นลูกนกแร้ง โดยหลังครบ 6 เดือนเต็ม จะมีการตรวจร่างกาย เจาะเลือด และเอกซเรย์เพื่อประเมินมวลกระดูกและอวัยวะภายใน
ลักษณะที่คนเลี้ยงแจ้งมาที่น่าสนใจพบว่าลูกพญาแร้งตัวนี้มีพฤติ กรรมไม่อยากใกล้ชิดคน และพยายามบินหนีตลอด ถือเป็นเรื่องดีเพราะการเลี้ยงไม่ได้ต้องการให้ลูกนกติดคน แต่ต้องการให้มีพฤติกรรมที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาใกล้เคียงกับธรรมชาติ
เจ้าเหม่ง ลูกนกตัวแรกที่ฟักจากกรงเลี้ยง อายุ 5 เดือน 13 วันที่สวนสัตว์โคราช
ผอ.องค์การสวนสัตว์ บอกอีกว่า หลังจากนี้ก็จะมีการปรับขยายกรงขนาดใหญ่ให้ลูกพญาแรงตัวนี้ ซึ่งจะวางในตำแหน่งใกล้กับกรงของพ่อแม่ เพื่อให้ลูกนกเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อและแม่ด้วย ซึ่งเป็นแผนในการฟื้นฟูพญาแร้งในประเทศไทย ที่ผ่านก้าวแรกมาแล้วถือว่าสำเร็จแล้ว โดยลูกพญาแร้งตัวนี้กำเนิดขึ้นในประเทศไทย และหลังจากหายจากไทยเมื่อ 30 ปีก่อน
ตอนนี้น้องยังไม่มีขื่อทางการ แต่พี่เลี้ยงเรียกเล่นๆ และแฟนคลับเรียกว่า เจ้าเหม่ง เพราะจากลักษณะที่หัวเหม่งๆ ไม่มีขน เป็นชื่อที่คุ้นหูส่วนจะตั้งชื่อหรือไม่ได้กำหนดขอให้รู้ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร จุดเด่น ชอบอะไรตอนนี้ก็เรยกเจ้าเหม่งไปก่อน
อ่านข่าว สำเร็จ! “พญาแร้ง" คู่แรก กลับบ้าน "ห้วยขาแข้ง" ในรอบ 30 ปี
"ใบบัว" พญาแร้งตัวที่ 6 ที่สวนสัตว์พาต้ามอบให้ในโครงการฟื้นฟูประชากรแร้ง
"ใบบัว" พญาแร้งตัวที่ 6 ความหวังจับคู่
นายอรรถพร บอกอีกว่าส่วนพญาแร้งที่เพิ่งได้มาพญาแรงตัวเมียชื่อ "ใบบัว" อายุประมาณ 32 ปี และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยองค์การสวนสัตว์ ได้รับบริจาคมามาจากสวนสัตว์พาต้า มอบให้โครงการฟื้นฟูพญาแร้ง ซึ่งเขามีซึ่งมีเพียง 1 ตัว โดยใบบัว เป็นพญาแร้งตัวเมีย แม้จะอายุเยอะแต่พญาแร้งมีวงจรชีวิตที่ยาวนานถึง 50 ปีในธรรมชาติ แต่ยังสามารถผสมพันธุ์ได้
ตอนนี้กำลังให้ใบบัว เทียบคู่กับพญาแร้งตัวผู้ในสวนสัตว์ หากเขาสนใจจับคู่กันในอนาคตก็จะมีแม่พันธุ์พญาแร้งเพิ่มขึ้น โดยนับเป็นพญาแร้งตัวที่ 6 ในกรงเลี้ยง
พญาแร้ง ในกรงเลี้ยงที่สวนสัตว์นครราชสีมา
สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ชื่อป๊อกและมิ่ง หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเป็นความร่วมมือ กันระหว่าง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2568 ได้เคลื่อนย้ายพญาแร้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ผ่านมาแล้ว 1 ปี 6 เดือน พญาแร้งทั้งคู่ สามารถปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมในห้วยขาแข้ง ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ มีแนวโน้มที่จะทำรังวางไข่ โดยทั้ง 2 ตัวเริ่มมีพฤติกรรมอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพญาแร้ง เมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์
อ่านข่าว
เปิดใจ 2 หญิงแกร่งทำงานอนุรักษ์ 32 ปีสืบนาคะเสถียร