วันนี้ (7 ก.ย.2566) โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ส่งมอบค้อนประจำตำแหน่งให้ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปิดฉากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ
ผู้นำอาเซียนกดดัน "กองทัพเมียนมา" ยุติความรุนแรง
แม้ว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาในครั้งนี้ จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่เนื้อหาในแถลงการณ์จากที่ประชุมระดับผู้นำก็แสดงจุดยืนชัดเจนต่อรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แถลงการณ์ได้เรียกร้อง "กองทัพเมียนมา" ยุติการโจมตีพลเรือน อาคารบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาลและศาสนสถาน, รับรองการใช้กลไกคณะทำงาน 3 ฝ่าย หรือ Troika ให้ประธานอาเซียนปัจจุบัน อดีตและอนาคตร่วมมือกันแก้ไขปัญหา, ไม่อนุญาตให้ผู้แทนรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน จนกว่าจะมีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ รวมถึงตัดสินใจให้ฟิลิปปินส์นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนปี 2026 แทนเมียนมา เพื่อไม่ให้วิกฤตในเมียนมาขัดขวางวาระงานของอาเซียน
ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อทางการ ว่า แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนฉบับนี้ไม่มีความเป็นกลาง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้อาเซียนยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของสมาชิก ตามกฎบัตรอาเซียนอย่างเคร่งครัด
สำหรับภารกิจสำคัญของลาว ในฐานะประธานอาเซียนปี 2024 คือ การจับมืออินโดนีเซียและมาเลเซียแก้ปัญหาเมียนมาผ่านกลไก Troika ซึ่งการนำกลไกนี้มาใช้น่าจะช่วยถ่วงดุลกันมากขึ้น เพราะทั้ง 3 ประเทศมีจุดยืนต่อการแก้ปัญหาเมียนมาแตกต่างกัน โดยอินโดนีเซียและมาเลเซีย แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหาร ในขณะที่ลาวค่อนข้างสงวนท่าทีในประเด็นนี้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
"เกา กิม ฮวน" เลขาธิการอาเซียน (ขวา) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพีบีเอส
เลขาธิการอาเซียนหวัง "รัฐบาลไทย" เดินหน้าช่วยเมียนมา
ความขัดแย้งภายในเมียนมายังเป็นโจทย์สำคัญของไทย ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 2,000 กิโลเมตร
"เกา กิม ฮวน" เลขาธิการอาเซียน ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพีบีเอส เกี่ยวกับความควาดหวังต่อรัฐบาลชุดใหม่ของไทย ในการร่วมมือกับอาเซียนเพื่อรับมือกับความท้าทายทั้งในและนอกภูมิภาค โดยเชื่อว่า ไทยภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าเล่นบทบาทที่เหมาะสมและถูกต้องในอาเซียนและภูมิภาค
สำหรับปัญหาความไม่สงบในเมียนมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 เลขาธิการอาเซียน ระบุว่า ไทยเป็นเพื่อนบ้านสำคัญของเมียนมา เนื่องจากพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมาครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง
พร้อมทั้งเปิดเผยว่า นอกเหนือจากประธานอาเซียนแล้ว สำนักงานเลขาธิการอาเซียนยังหวังให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้ความช่วยเหลือเมียนมาอย่างแข็งขันด้วยเช่นกัน และในกรณีนี้ไทยจึงเป็นประเทศสำคัญในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อให้ชาวเมียนมารอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้
การแก้ปัญหาความไม่สงบในเมียนมาถือเป็นบททดสอบสำคัญของอาเซียน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นต่อสายตาของนานาชาติอีกครั้ง หากการแก้ปัญหาภายในกลุ่มยังไม่มีความคืบหน้า ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของอาเซียนในระยะยาว และโอกาสในการผลักดันให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางของการเติบโตของภูมิภาคตามแนวคิดของอินโดนีเซียในปี 2023 ก็คงเป็นไปได้ยาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้นำอินโดฯ ย้ำ "อาเซียน" ไม่ใช่สนามประลองกำลังมหาอำนาจ