ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มุมใหม่ ? รมว.ยธ. “ทำกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่อิทธิพลเป็นใหญ่”

สังคม
15 ก.ย. 66
11:10
1,073
Logo Thai PBS
มุมใหม่ ? รมว.ยธ. “ทำกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่อิทธิพลเป็นใหญ่”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังตอบตามข้อกฎหมาย เมื่อถูกถามถึงการรักษาตัวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 22 ก.ย.นี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่มีการแก้ไขเพื่อยกระดับกรมราชทัณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักสหประชาชาติและมาตรฐานการควบคุมตัวผู้ต้องขัง จะไม่มีใครอยู่นอกเหนือระเบียบดังกล่าว

และทุกอย่างยังเป็นไปตามขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ แต่ตามหลักการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวนานเกินกว่า 30วัน จะต้องมีการขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และมีเอกสารหลักฐานของแพทย์มาประกอบ แต่หลักสำคัญจะต้องเป็นเรื่องความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า หากมีการรักษาตัวนานเกินกว่า 60 วันจะต้องขอความเห็นชอบจากปลัดกระทรวงยุติธรรม และถ้าหากเกินกว่า 120 วัน จะต้องขอความเห็นชอบจาก รมว.ยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบกฎกระทรวง

แต่หลักการสำคัญ คือ กรมราชทัณฑ์ จะต้องควบคุมไม่ให้ผู้ต้องขังหลบหนีและไม่ให้ไปก่อเหตุร้าย

ส่วนกรณีการพิจารณาพักการลงโทษ พ.ต.อ.ทวี บอกว่า จะต้องอยู่ในหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยการไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย แต่ต้องทำตามกฎหมาย และทำตามอำเภอใจไม่ได้

นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรม ยังระบุอีกว่า นโยบายของกระทรวงยุติธรรมจะสอดคล้องกับนโยบายการแก้ปัญหาของรัฐบาลในหลาย ๆ เรื่อง และจะทำให้ประชาชนเห็นผลภายใน 100 วัน โดยเฉพาะการรื้อฟื้นหลักนิติธรรม การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน หนี้ครัวเรือนประชาชน ผลักดันการแก้ปัญหาจาก พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูเอสเอ็มอีและหนี้บุคคลธรรมดา เน้นแก้หนี้เชิงโครงสร้าง

ส่วนการแก้ปัญหายาเสพติด พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา มีวิธีแก้ไขต่าง ๆ ทั้งการยกระดับแก้ไขกฎหมายประมวลยาเสพติด มีการยึดอายัดทรัพย์ผู้ค้าและเครือข่าย ขณะที่ผู้เสพก็ถูกส่งตัวไปบำบัด แต่ยังมีปัญหาแก้ไขไม่ได้ มีผู้เสพที่อยู่กับกรมคุมประพฤติถึง 200,000 คน และอยู่นอกการควบคุมถึง 1.9 ล้านคน

ส่วนการยกระดับปรับแก้กฎหมายให้เห็นผล พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดูแลกลุ่มคนด้อยโอกาส เช่น เรื่องการให้สัญชาติไทย ซึ่งสำนักนิติวิทยาศาสตร์และกรมคุ้มครองสิทธิ พบว่ามีบุคคลที่เกิดในไทยและยังไม่ได้สัญชาติไทยมีประมาณ 1 ล้านคน

แต่ในแต่ละปีสามารถตรวจฯ ดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์สัญชาติได้ประมาณ 1,000-10,000 คนเท่านั้น จำนวนนี้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าคนอื่น ๆ คือ นักเรียน

สำหรับคดีดังกรณีการฮั้วประมูลของบริษัทในเครือของกำนันนก "ประวีณ จันทร์คล้าย" คดีส่วนใหญ่เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ รมว.ยุติธรรม ระบุว่า อีกด้านหนึ่งมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถ่วงดุลในการทำงาน แก้ปัญหาในเรื่องการฮั้ว

“ปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพล คือ การทุจริตชนิดหนึ่ง เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง เร็ว ๆ นี้กระทรวงฯ จะร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อร่วมตรวจสอบการฮั้วประมูลต่าง ๆ ทั้งนี้จะเป็นการใช้เครื่องมือที่มี คือ กฎหมาย ให้ระบบกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่อิทธิพลเป็นใหญ่”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง