ยุโรปปิ๊งระบบคุมมาตรฐาน (EL) ของไทย ส่งออกผักสดผ่านฉลุย
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้เร่งแก้ไขปัญหาส่งออกสินค้าผักสด 16 ชนิดของไทยไปยังสหภาพยุโรป(EU)อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการควบคุมพิเศษบัญชีรายชื่อ(Establishment list : EL)โรงคัดบรรจุเพื่อส่งออกผักและผลไม้สดไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ล่าสุดหน่วยงาน Health and Consumer(DG-SANCO)ของสหภาพยุโรป มีความพึงพอใจและยอมรับมาตรการ EL ของไทย ซึ่งมีโรงคัดบรรจุผักและผลไม้(Packing House)ที่ผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระบบควบคุมพิเศษฯแล้ว จำนวน 5 บริษัท 6 โรงคัดบรรจุ คือ โรงคัดบรรจุของบริษัท สวิฟท์ จำกัด มีพืชที่ผ่านการพิจารณา ได้แก่ พริก ผักชีฝรั่ง พริกขี้หนู มะเขือเปราะ มะเขือเหลือง กะเพรา และโหระพา โรงคัดบรรจุของบริษัท ไทยเวอลด์ อิมปอร์ต เอ็กซปอร์ต จำกัด มีพืชที่ผ่านการพิจารณา 3 ชนิด คือ พริก มะเขือเปราะ และโหระพา
นอกจากนั้นยังมีโรงคัดบรรจุของบริษัท เคอร์เนอร์ อะโกร เอ็กปอร์ต เซ็นเตอร์ จำกัด พืชที่ผ่านการพิจารณามี 2 ชนิด ได้แก่ พริก และมะเขือเปราะ บริษัท อะกริ เฟร็ช จำกัด มีพืชที่ผ่านการพิจารณา ได้แก่ กะเพรา โหระพา และพริก และโรงคัดบรรจุบริษัท เอเซีย เอ็กโซติก คอร์ปอเรชั่น จำกัด พืชที่ผ่านการพิจารณา คือ พริกขี้หนู ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 5 บริษัทดังกล่าว สามารถส่งออกสินค้าผักสดไปยัง EU ได้ไม่มีปัญหา ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นก็สามารถส่งออกได้เช่นกัน แต่ต้องซื้อผักจากโรงคัดบรรจุที่อยู่ในระบบ EL แล้วเท่านั้น โดยต้องมีหนังสือรับรองสินค้าจากโรงคัดบรรจุด้วย เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจึงจะออกใบรับรองสุขอนามัยพืช(PC)ให้แนบไปกับสินค้าส่งออก
“ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้เร่งประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ เพื่อขยายผลการจัดทำระบบ EL ในสินค้าพืชผักที่ส่งออกไปยัง EU เพิ่มเติม โดยเฉพาะผักกลุ่มเสี่ยงที่สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบ EC regulation 669/2009 เพิ่มระดับความเข้มงวดในการควบคุมการนำเข้า ได้แก่ ถั่วฝักยาว พืชตระกูลกะหล่ำ ผักชีไทย สะระแหน่ และคื่นช่าย ซึ่งผู้ประกอบการอยู่ระหว่างเร่งปรับตัวและพัฒนาเป็นรายพืช โดยกรมวิชาการเกษตรจะเริ่มบังคับใช้ระบบ EL ในสินค้ากลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป” นางสาวเสริมสุข กล่าว
นางสาวเสริมสุขกล่าวด้วยว่า ภายหลังกรมวิชาการเกษตรใช้มาตรการ EL ควบคุมการส่งออกผักสดไปยังสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส ทำให้ปัญหาการตรวจพบศัตรูพืชกักกันติดไปกับในสินค้าหมดไป และไม่มีการแจ้งเตือนปัญหาดังกล่าว ขณะที่การแจ้งเตือนปัญหาสารเคมีปนเปื้อนก็ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรจะเร่งส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงคัดบรรจุเข้าสู่ระบบ EL เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรป เพื่อสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้ประเทศผู้นำเข้าปลายทาง ซึ่งจะช่วยผลักดันส่งออกสินค้าพืชผักสดไปยัง EU เพิ่มขึ้น