ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แกะรอย 19 ปี “บริษัทกำนันนก” เบื้องหลังคู่สัญญารับเหมาภาครัฐ

อาชญากรรม
21 ก.ย. 66
16:49
963
Logo Thai PBS
แกะรอย 19 ปี “บริษัทกำนันนก” เบื้องหลังคู่สัญญารับเหมาภาครัฐ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยิ่งตรวจสอบ ยิ่งพบความผิดปกติ คดีกำนันนก “ประวีณ จันทร์คล้าย” ผู้ต้องหาจ้างวาน “หน่อง ท่าผา” สังหาร “สารวัตรแบงค์” พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง (สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล) เสียชีวิต หลังพนักงานสอบสวน กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองฮั้วประมูล) กรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียกสอบปากคำตัวแทน 58 บริษัทในฐานะพยาน ที่เคยเข้ายื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำโครงการก่อสร้างต่าง ๆ แข่งกับบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด

“บริษัทกำนันนก” 19 ปี คู่สัญญารับเหมาภาครัฐ

ต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่ปี 2554-2566 บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ฯ และบริษัท ป.รวีกนกฯ ที่มีชื่อกำนันนกเป็นกรรมการและประธานกรรมการ ได้เข้าประมูลและมีส่วนร่วมในการยื่นซองเสนอราคาในโครงการจัดซื้อ/จัดจ้างภาครัฐ จำนวน 1,544 โครงการ มูลค่ากว่า 7,579 ล้านบาท ราคารวมในสัญญา 6,964 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ได้งานในโครงการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ 1,320 โครงการ

หากตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2556 พบว่า แปรสภาพมาจาก หจก. ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง ซึ่งก่อตั้งโดยนายลออง จันทร์คล้าย หรือ ผู้ใหญ่ประโยชน์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2540 ส่วนบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด จดทะเบียนวันที่ 9 ก.ย.2552 เบื้องต้นทั้งสองบริษัทเป็นคู่สัญญารับเหมากับหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2547-2562 จำนวน 884 สัญญา วงเงิน 4,126.8 ล้านบาท ไม่รวมปี 2563-2565

ข้อมูลจากการตรวจสอบเบื้องต้นของดีเอสไอ จำนวนนี้พบ 2 โครงการที่น่ากังขา คาดสัปดาห์หน้าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษ จากทั้งสิ้น 20 โครงการที่ต้องตรวจสอบ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างถนนในเขต จ.นครปฐม

คือ โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม-ต.ลำลูกบัว ในปีงบประมาณ 2560 ถนนเส้นนี้ระยะทางยาว 9.076 กิโลเมตร บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด

เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจค้นที่ทำการ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด

เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจค้นที่ทำการ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด

เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้าตรวจค้นที่ทำการ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด

บริษัทดังกล่าวได้เข้าร่วมซื้อซองเสนอราคาและประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-biding) เป็นผู้ชนะประกวดราคาในราคาเกือบ 300 ล้านบาท มีเอกชนซื้อซองจำนวน 33 ราย แต่ยื่นเสนอราคาแค่ 4 ราย ประกอบด้วย บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท ท่ามะกาแอสฟัลท์ จำกัด บริษัท แสงชัยโชค จำกัด และ บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 ผ่านคุณสมบัติและเทคนิคครบทั้งหมด ผู้เสนอราคาแต่ละรายเสนอราคาห่างกันไม่มากนัก

บริษัท ท่ามะกาแอสฟัลท์ จำกัด เสนอราคาที่ 299.60 ล้านบาท, บริษัท แสงชัยโชค จำกัด เสนอราคา 299.72 ล้านบาท, บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 จำกัด เสนอราคา 299.76 ล้านบาท และบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เสนอราคา 298.39 ล้านบาท

ข้อมูลระบุว่า บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด กรมทางหลวงประกาศให้บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะการเสนอราคา ในราคาก่อสร้าง 298.39 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2560 และเข้าทำสัญญาเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2560 สัญญาเลขที่ 26/01/2560

โครงการที่ 2 คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว-บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 ในปีงบประมาณ 2564 ระยะทาง 7.2 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 350 ล้านบาท ประกวดราคาจัดซื้อประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-biding) มีเอกชนซื้อซอง 32 ราย

ขณะที่มีผู้เสนอราคา 3 รายพบ ชื่อ บริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 จำกัด และ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ร่วมเสนอราคา โดยบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (กำนันนก) ชนะในราคา 240 ล้านบาท เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 109.9 ล้านบาท ทำสัญญาวันที่ 7 ก.ย.2564

ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า บริษัทที่ดีเอสไอเรียกมาสอบปากคำในฐานะพยาน ที่เคยเข้ายื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างเหมา ในระบบ E-biding และ E-auction ทั้ง 58 บริษัทยังมาไม่ครบ แต่ได้ติดต่อมายังพนักงานสอบสวนและกำหนดนัดแล้วว่าจะเข้าพบในวันไหนบ้าง โดยจะมีการตรวจสอบทั้งหมด 20 โครงการ

เบื้องต้นพบว่า มีคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐแล้ว จำนวน 19 คดี และอยู่ในอำนาจที่จะรับไว้ดำเนินการตรวจสอบเป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

กรีดซ้ำ เบื้องหลังข้อมูลกินรวบนครปฐม 1,003 โครงการ

จากการตรวจสอบ ข้อมูลเอกสารสัญญาการรับงานของ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ที่รับงานในพื้นที่นครปฐม เบื้องต้น ในปีงบประมาณ 2554-2565 พบว่า มีจำนวน 189 โครงการ วงเงินงบประมาณ 1,637 ล้านบาท ราคารวมทุกสัญญา 1,573 ล้านบาท

ส่วนบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด รับงานในปีงบประมาณ 2557-2565 รับในเขต จ.นครปฐม จำนวน 101 โครงการ วงเงินงบประมาณ 699 ล้านบาท ราคารวมทุกสัญญา 585 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2562-2565 ทั้ง 2 บริษัทรับงานจำนวน 24 โครงการ วงเงินงบประมาณ 265 ล้านบาท เฉพาะ จ.นครปฐม จำนวน 301 โครงการ และหากรวมทั้ง จ.นครปฐม รับงานไป 594 โครงการ มูลค่ารวม 2,266 ล้านบาท

หากแยกเฉพาะ โครงการจัดซื้อจัดจ้าง อบจ.นครปฐม ปีงบประมาณ 2558-2566 (ต.ค.2565-ม.ค.2566) มี 1,103 โครงการ พบรายชื่อ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้างฯ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้างฯ และบริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 ได้รับงานในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมวงเงินประมาณ 5,905 ล้านบาท ราคารวมในสัญญา 5,281 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างถนน เส้นทางคมนาคมหลักของ อบจ.นครปฐม มีจำนวน 733 โครงการ รวมวงเงินงบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 69.17 ล้านบาท เป็นโครงการทำถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 624 โครงการ วงเงินสัญญาก่อสร้าง 56.6 ล้านบาท และโครงการถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 139 โครงการ วงเงินสัญญาก่อสร้าง 12.6 ล้านบาท

ม้ามืด “ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566” ฟันงาน 60%

ข้อมูลจากการตรวจสอบประเภทโครงการและผู้ชนะการเสนอราคา ของ อบจ.นครปฐม ในปีงบประมาณเดียวกันพบจำนวน 483 โครงการ มีโครงการทำถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต 475 โครงการ จากวงเงินงบประมาณในโครงการก่อสร้างทั้งหมดของ อบจ.นครปฐม จำนวน 5,905 ล้านบาท

จำนวนนี้ พบชื่อบริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 ได้รับโครงการถนนแอสฟัลติกคอนกรีต จำนวน 265 โครงการ ราคารวมในสัญญา 2,079 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มบริษัทของกำนันนกได้งานไป 210 โครงการ เป็นก่อสร้างถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตทั้งหมด โดยบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง ได้งานจำนวน 105 โครงการ ราคารวมในสัญญา 805 ล้านบาท และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด จำนวน 105 โครงการ ราคารวมในสัญญา 553 ล้านบาท รวมวงเงิน 1,338 ล้านบาท

ส่วนงานอื่นที่เหลือ เช่น การก่อสร้างกำแพงดินคอนกรีตเสริมเหล็ก ห้องสุขา วางทอระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารอเนกประสงค์ และอื่น ๆ เป็นโครงการก่อสร้างทั้งหมดของอบจ.นครปฐม

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสัดส่วน โครงการก่อสร้างและผู้ชนะการเสนอราคา อัตราส่วน 60:40 กลับพบว่า เป็นโครงการของบริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566 สูงถึง 60% และบริษัทเครือข่ายกำนันนกได้ 40% เท่านั้น

ข้อมูลจากการตรวจสอบสรุปได้ว่า โครงการก่อสร้างถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตทั้งหมดของ อบจ.นครปฐม มีกลุ่มบุคคลเพียง 2 รายใหญ่ในจังหวัดเท่านั้น ที่เป็นผู้ชนะการเสนอราคามาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด คือ ของกลุ่มครอบครัวจันทร์คล้าย บริษัทป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้างฯ (ผู้ใหญ่โยชน์ ), บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด (กำนันนก) และบริษัท ธงชัยเจริญก่อสร้าง 2566

ภายใต้เงาวงการรับเหมาก่อสร้าง จะเห็นพฤติกรรมการเสนอราคาของบริษัทที่ชนะการประมูล และบริษัทที่เคยเข้ายื่นซื้อซองประมูลในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ก่อนปี 2559 และหลังปี 2560 พบความแตกต่างเห็นได้ชัด

การสืบข้อมูลเพื่อขยายผลขุมทรัพย์ของบริษัทต่าง ๆ ยังไม่จบ...โปรดติดตามตอนต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดอาณาจักร "กำนันนก" ทายาทรับเหมารายใหญ่นครปฐม

ปมกังขา บริษัท “กำนันนก” ประมูล 2 โครงการสร้างถนนนครปฐม

สืบขุมทรัพย์ “บริษัทกำนันนก” 7 องค์กรรัฐ ใช้บริการ

ผ่าขบวนการ “ฮั้วประมูล” บ้านไหนใหญ่ ใครเบื้องหลัง

ชำแหละ 300 โครงการ “บริษัทกำนันนก” กินรวบ “นครปฐม”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง