วันนี้ (25 ก.ย.2566) นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ประชุมลับนานเกือบ 3 ชั่วโมง โดยมีตัวแทนกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับมาตรการดูแลนายทักษิณ ชินวัตร หลังได้รับพระราชทานลดโทษว่าอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่
นายสมชาย กล่าวว่า สำหรับการรักษาคาดว่าจะนัดในเดือนหน้าที่จะครบ 30 วัน ครั้งที่ 2 ขอขยายอยู่ในโรงพยาบาล เพราะมีการผ่าตัดหลายโรค มีคำตอบ 4 ประเด็น คือ นายทักษิณ เข้ารับการตรวจรักษาโดยเป็นนักโทษแดน 7 และส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจ ได้รับคำยืนยันว่าตั้งแต่ 22 ส.ค.ถึงปัจจุบันยังอยู่ในความดูแลกรมราชทัณฑ์ มีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เข้าเวร และตำรวจควบคุมอยู่
ส่วนอาการป่วยต่างๆ มี 4 โรค มีผลรับรองทางการแพทย์จากสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรต แต่กรรมาธิการฯ ยังไม่ได้รับข้อมูลการเข้ารับผ่าตัดหลายโรค เนื่องด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะใช้สิทธิรักษา และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
แต่กรรมาธิการฯ เห็นว่าเมื่อสังคมสงสัย จึงมีข้อเสนอแนะว่าหากแพทย์ใหญ่ และตำรวจอธิบายได้ เชื่อว่าสังคมจะรับได้
อ่านข่าว ราชทัณฑ์ แจงหลักกฎหมาย เปิดข้อมูล "ผู้ต้องขังป่วย" ไม่ได้
นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
ไม่เข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ 5 ธ.ค.
นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ 3 เมื่อนายทักษิณ ได้รับการผ่าตัด จนมีอาการเป็นที่น่าพอใจ ตามกระบวนการสามารถส่งตัวกลับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่ ได้รับคำยืนยันโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ สามารถรับผู้ป่วยต่อ และหายป่วยกลับไปอยู่ในเรือนจำได้ ตามขั้นตอนปกติ แต่ต้องดูอาการของนายทักษิณ ว่าอยู่ในระดับไหนในการรักษา หวังจะรับคำชี้แจงในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ จากคำชี้แจงของหน่วยงาน กรณีนายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ปีแล้ว จะได้รับพระราชทานอภัยโทษอีกหรือไม่ มีเกณฑ์ว่าจะต้องอยู่ในเรือนจำไม่น้อยกว่า 4 เดือน และมีการปรับระดับนักโทษจากชั้นกลาง เป็นชั้นดีเยี่ยมแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการ
การรับพระราชทานอภัยโทษ ในวาระโอกาสสำคัญ เช่นวันที่ 5 ธ.ค.นี้นายทักษิณ ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว หักนับ 120 วันก็จะครบรอบ 20 ธ.ค.นี้
อ่านข่าว รพ.ตร.-กรมราชทัณฑ์ แจง กมธ.สิทธิฯ มาตรฐานดูแล "ทักษิณ"
ประชุมทางลับ
กรอบพักโทษช่วง ก.พ.2567
ส่วนการพักโทษจะได้รับเมื่อเป็นนักโทษชั้นกลาง คาดว่าราวเดือนก.พ.2567 และหลังถูกจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของโทษ สรุปคือนายทักษิณ จะได้รับโทษ 6 เดือนนับแต่ 22 ส.ค.นี้ ก็จะอยู่ในเกณฑ์พักโทษ 2567 จะเข้าสู่เกณฑ์พักโทษ คือ เป็นผู้สูงวัย และมีโรคประจำตัวอยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายการพักโทษได้ ไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็ม กำหนดพื้นที่อยู่ที่บ้านห้ามออกนอกประเทศไทย
นายสมชาย ยอมรับมีหลายคำถามที่แพทย์ตอบไม่ได้ และขอทีมแพทย์ให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการฯ ในทางลับ เชื่อหากนายทักษิณป่วยหนัก และถ้ามีการชี้แจงเชื่อว่าสังคมยอมรับได้ พร้อมทั้งยืนยันไม่ได้บี้ให้ตอบ และต้องการเห็นความตรงไปตรงมาคดีนายทักษิณ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
มองว่านายทักษิณ จะเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ต้องการให้เกิดกระแสกระเพื่อม จนกลายเป็นข้อสงสัย หรือคลื่นใต้น้ำทำให้เกิดความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี สว.หลายคนเดินออกจากห้องประชุมก่อน ที่จะพิจารณาแล้วเสร็จ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า ไม่ได้อะไรจากการเรียกหน่วยงานมาสอบถามในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกรอบเวลาที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลนานเท่าไหร่
ขณะที่หน่วยงานที่มาชี้แจงหลังจากต่อกรรมาธิการแล้วเสร็จ ปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการชี้แจงต่อสื่อมวลชน
อ่านข่าว
คปท.จี้ "ผบ.ตร." สั่ง "แพทย์ใหญ่" เปิดอาการ "ทักษิณ" คลายสงสัยไม่ป่วยจริง
"ราชทัณฑ์" ชี้แจงกรณีให้ 'ทักษิณ' ออกรักษาตัว รพ.ภายนอกเกิน 30 วัน
"ทักษิณ" ไม่เข้าเกณฑ์พักโทษ ชี้ต้องจำคุกอย่างน้อย 6 เดือนก่อน