ในการสร้างสถิติโลกครั้งใหม่นี้ ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิก (Technische Universität München - TUM) ได้ปรับเปลี่ยนยานพาหนะให้แตกต่างจากที่เคยใช้ในการแข่งขันอื่น ๆ เพื่อให้ได้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) และทำให้มีน้ำหนักเบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมติดตั้งแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้นด้วยกำลังขับเคลื่อน 15.5 กิโลวัตต์
ตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพใหม่มีน้ำหนักเพียง 374 ปอนด์ (170 กิโลกรัม) และมอเตอร์ซิงโครนัสแม่เหล็กถาวรเดี่ยวมีกำลังไฟฟ้าเพียง 400 วัตต์ ในขณะที่ค่าสัมประสิทธิ์การลากคำนวณเป็น 0.159 Cd (Coefficient of Drag)
ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิกเรียกตัวเองว่า TUfast Eco ใช้เวลา 6 วันในการสร้างสถิติใหม่ครั้งนี้ ณ โรงเก็บเครื่องบินของสนามบินมิวนิก ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้ทีมสามารถทำการขับรถยนต์ไฟฟ้านี้ได้แม้อยู่ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทีม TUfast Eco ได้เอาชนะสถิติก่อนหน้าภายในระยะเวลา 4 วัน แต่เมื่อแบตเตอรี่ยังไม่หมดการขับเคลื่อนจึงยังคงดำเนินต่อไปเพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสรุปแล้วใช้เวลาทั้งหมด 6 วันในการสร้างสถิติใหม่ครั้งนี้ด้วยระยะทาง 1,599 ไมล์ (ประมาณ 2,574 กิโลเมตร)
รถยนต์ไฟฟ้าของทีม TUfast Eco สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 103 ไมล์ต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ทำให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทีมงานเดินทางด้วยรถยนต์ที่ทำลายสถิติไปที่งานแสดง IAA Mobility ในมิวนิก ซึ่งตัวแทนของ Guinness World Records ได้มอบรางวัลให้กับทีมนักศึกษาด้วยรางวัลรถไฟฟ้าที่วิ่งได้ระยะทางที่ไกลที่สุด จากการชาร์จครั้งเดียว โดยไม่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ที่มาข้อมูล: newatlas, tum, insideevs, autoevolution
ที่มาภาพ: tum
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech