เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอดังนี้
- แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท
- แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
- แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง
ไฟเขียว 4 รัฐวิสาหกิจกู้เงินบริหารหนี้
นอกจากนี้ อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบฯ 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
อนุมัติการกู้เงินเฉพาะ ในส่วนที่ครม.ได้มีมติอนุมัติแล้ว ในส่วนของรัฐบาลสำหรับการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.การบริ หารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 แห่งพ.ร.ก. กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน และจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน FIDF ระยะที่สอง พ.ศ.2545
รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเฉพาะในส่วนที่ครม.ได้มีมติอนุมัติแล้วเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกัน และการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
อ่านข่าวจับตา! เงินบาทอ่อนแตะ 36.42 บ./ดอลลาร์ กนง.จ่อเคาะ "ดอกเบี้ย"
เปิดรายละเอียดแผนก่อหนี้ใหม่
สำหรับแผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2
เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2) (กองทัพเรือ) วงเงิน 16,210.90 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) วงเงิน 11,700 ล้านบาท
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) (รฟท.) วงเงิน 15,800 ล้านบาท เป็นต้น
การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 3 เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระยะที่ 2 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงิน 12,078 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธ.ค.พื้นที่โซน C (ธพส.) วงเงิน 3,500 ล้านบาท
รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เช่น เงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ของ รฟท. วงเงิน 18,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อดำเนินงานปกติของ กฟภ. วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นต้น
แผนการบริหารหนี้เดิม
ขณะที่แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567 เช่น หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้และการบริหารหนี้ วงเงิน 1,110,587,98 ล้านบาท หนี้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 วงเงิน 201,264.49 ล้านบาท หนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุน FIDF วงเงิน 83,353.50 ล้านบาท หนี้โครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 58,452.64 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 117,250 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 219,557 ล้านบาท) และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่น ๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 19,464.80 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 34,266.83 ล้านบาท