ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เพื่อไทย" แม้จะอยู่ในฐานะพรรครัฐบาลที่น่าจะได้เปรียบทางการเมืองกว่า "ก้าวไกล" ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ถ้าเทียบฟอร์มกันแล้ว "ก้าวไกล" กลับเป็นต่อ "เพื่อไทย" อยู่หลายปัจจัย โดยเฉพาะมวลชน-กลุ่มผู้สนับสนุน
พรรคเพื่อไทยอยู่ในฐานะผู้ท้าชิงพรรคก้าวไกล เพราะว่าการเลือกตั้ง ปี 2566 หรือครั้งล่าสุดนี้ "ก้าวไกล" คว้าชัยชนะมาเป็นอันดับ 1 หากแต่บริบททางการเมืองไม่เกื้อหนุนให้พรรคก้าวไกล เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเสียงสนับสนุนก็ไม่เพียงพอที่จะโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แถมยังมีปมเรื่องถือหุ้นไอทีวีที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขให้ต้องสะดุดอีก ผนวกกับนโยบายที่เกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการเสนอแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112
แต่เมื่อถอยหลัง มาตั้งหลักใหม่แล้ว สำหรับพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วยการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ "นายชัยธวัช ตุลาธน" นั่งเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมกับการเดินหมาก-วางเกมทางการเมือง ผ่านมติขับ "นายปดิพัทธ์ สันติภาดา" เพื่อแลกกับอำนาจที่จะคุมบัลลังก์ในสภาฯ ผ่านตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ในฐานะพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์แบบแล้ว
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ก็อาจจะได้เปรียบอยู่บ้าง เรียกว่าขยับหนึ่ง คือ นายชัยธวัช ด้วยบทบาทฝ่ายนิติบัญญัติ ขยับสอง คือการเมืองภาคประชาชน โดยนายพิธา นี่จึงเป็นการตอบรับ พร้อมสู้กับพรรคคู่แข่ง อย่างพรรคเพื่อไทย แบบตรงไปตรงมา
ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากคนในพรรค น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไป ก็มีคำถามอยู่บ้าง สำหรับลูกสาวคนเล็กของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ที่เปลี่ยนผ่านเป็นพรรคพลังประชาชน และเป็นพรรคเพื่อไทยในวันนี้ จะยังคงพร้อมต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป "จริงหรือไม่" ด้วยข้อสังเกตหนึ่งว่า "ภารกิจพาพ่อกลับบ้าน" เสร็จสิ้นลงแล้ว จะขยับเข้ามาลงลึก ในรายละเอียดบนถนนการเมือง "จริงเหรอ" และล่าสุดนางสาวแพทองธาร ก็ยังไม่ตอบรับ เต็มปาก-เต็มคำ ขอรอมติพรรค 27 ต.ค. นี้ก่อน
แน่นอนว่า ความชัดเจนยังคงมีความไม่ชัดเจนในตัวอยู่บ้าง อาจต้องรอข้อเท็จจริง ที่จะปรากฏในวันประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเพื่อไทย 27 ต.ค. น.ส.แพทองธาร จะขยับตัวมาลงสู่การเมืองเต็มตัวหรือไม่ และจะนั่งยาวไปถึงสนามเลือกตั้งครั้งหน้า หรือแค่ชั่วคราว ด้วยมีข้อสังเกตอีกว่า
หนึ่งเพราะกระแสข่าวที่ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังไม่เป็นเนื้อเดียวกับคนในพรรคเพื่อไทย และคนที่จะเป็นสื่อกลาง เชื่อมต่อ ประสานให้เกิดเอกภาพได้มากที่สุด ย่อมต้องเป็น น.ส.แพทองธาร และสองจากสนามเลือกตั้งปี 2566 ก็เป็นดัชนีชี้วัดได้ว่า น.ส.แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับชัยชนะ เหมือนอย่างที่ตั้งเป้าไว้ "แลนด์สไลด์" ทั้งแผ่นดิน
เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ - แพทองธาร ชินวัตร ขณะนั่งประชุมพรรคเพื่อไทย
ดังนั้นการเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย่อมหมายถึง น.ส.แพทองธาร จะได้เป็น "แม่เหล็ก" ที่จะทำงานออกฤทธิ์ทางการเมืองให้ชัดขึ้นและมากขึ้นด้วย เพราะผลลัพธ์นั้นจะปรากฏอีกครั้ง ไม่ใช่แค่สนามเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น แต่จะหมายถึงตลอดระยะเวลาที่นายกฯ เศรษฐา จะยังคงขับเคลื่อนเดินหน้าในฐานะผู้นำประเทศอยู่ด้วย
นั่นเท่ากับว่า น.ส.แพทองธาร คือกั้นชน 3 ชั้นของรัฐบาลเพื่อไทย และ นายกฯ เศรษฐา ทั้งที่ทำเนียบฯ สภาฯ และในพรรคเพื่อไทยเอง
แต่ก็อย่างที่บอก ไม่ชัวร์ ว่าจะต่อเนื่องยาวนาน หรือแค่ชั่วคราว
ขณะที่พรรคก้าวไกล เตรียมหมากล้อมรัฐบาลเพื่อไทยไว้อย่างแน่นหนา ผ่านบทบาทการเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างเต็มรูปแบบ แต่แม้จะเป็นพรรคที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ปี 2566 มาเป็นอันดับ 1 หากแต่การเลือกตั้งครั้งหน้า จะยังครองแชมป์ไว้ได้หรือไม่ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องให้ต้องพิสูจน์การยอมรับ
อย่างปมปัญหาของ "ก้าวไกล" ไม่ใช่แค่อุดมการณ์ หลักการหรือนโยบาย หากแต่ยังหมายถึง "จุดยืน" ทางการเมืองที่ย้ำมาตลอดว่า "ทำการเมืองรูปแบบใหม่" ด้วย เพราะแค่ประเดิมเดินเกมแรก ก็ถูกตั้งคำถามว่า ถูกการเมืองแบบเก่า "กลืนกิน" ไปแล้วหรือไม่
หนึ่ง คือการยึดติดตำแหน่ง สอง คือสยบยอมกับผลประโยชน์ตรงหน้า
แน่นอนว่า "ก้าวไกล" ต้องมีเหตุผลชี้แจงให้ชัด กรณีการขับ "รองฯ อ๋อง" นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ออกจากสมาชิกพรรคก้าวไกล เพราะอะไร ทำไม และเป็นการเมืองรูปแบบใหม่อย่างที่เคยพูดไว้หรือไม่ เพราะเลี่ยงไม่ได้กับข้อครหาว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" พรางประโยชน์อะไรเอาไว้กันแน่
เพราะอาจเป็นจุดเพลี้ยงพล้ำทางการเมืองอีกประเด็นหนึ่งได้
วิเคราะห์โดย : เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์
อ่านข่าวอื่น :
“บิ๊กโจ๊ก” เข้าทำงาน ตร.แล้ว หลังลาราชการ 3 วัน
ผบ.ทบ.ขีดเส้น 6 ต.ค.นี้ รู้ผลสอบน้ำมันหาย 2 แสนลิตร