ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พรุ่งนี้ ครม.พิจารณาราคารับจำนำข้าว

เศรษฐกิจ
12 ก.ย. 54
01:59
16
Logo Thai PBS
พรุ่งนี้ ครม.พิจารณาราคารับจำนำข้าว

รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาช่องว่างของโครงการรับจำนำข้าว โดยให้ส่วนราชการตรวจสอบการลงทะเบียน เพื่อป้องกันการทุจริต ขณะที่ผู้ส่งออกค่าการณ์ว่า การส่งออกจะปรับตัวลดลงร้อยละ 30-40 หลังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. กำหนดราคารับจำนำ ที่ 13,800-20,000 บาท

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกลางผลิต 2554/2555 โดยจะเริ่มโครงการในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 จนถึง 29 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาราคารับจำนำในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.)

โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกความชื้น15% กำหนดให้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000บาท  ข้าวเปลือกหอมจังหวัด ตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 18,000 บาท เมล็ดสั้น ตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท และข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท เบื้องต้นคาดว่า จะใช้เงินงบประมาณ 400,000 ล้านบาท จากจำนวนข้าวที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 25 ล้านตัน

หลังมีมติดังกล่าวนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การส่งออกข้าวในปีหน้าอาจจะลดลงถึงร้อยละ 30-40 จากปีนี้ที่คาดว่าจะส่งออกได้มากกว่า 10 ล้านตัน เพราะราคาข้าวของไทยจะพุ่งสูงขึ้น จนลูกค้าต่างประเทศหันไปหาผู้ส่งออกอื่นแทน เช่น ฮ่องกง จะหันไปซื้อจากเวียดนาม กัมพูชา ซึ่งในอนาคตหากผู้บริโภคยอมรับในการเปลี่ยนชนิดของข้าวแล้ว ก็อาจจะกลับมาบริโภคข้าวไทยได้ยากขึ้น

ขณะที่นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เห็นว่า เพื่อป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลควรให้ตัวแทนชาวนา มีส่วนร่วมในการตรวจสอบโดยประจำยังโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐบาลต้องจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจวัดคุณภาพข้าว เช่น การวัดความชื้น การชั่งน้ำหนัก เพื่อไม่ให้ชาวนาถูกเอาเปรียบ

ส่วนวิธีการป้องกันข้าวหายจากโรงสีหรือโกดังเก็บข้าวนั้น ข้าวเปลือกควรแปรสภาพไม่เกิน 10 วัน และ ควรใช้สัญญาฝากเก็บรักษาคุณภาพข้าว หากข้าวหายไปเจ้าของโกดังจะต้องรับผิดชอบ ส่วนการใช้สิทธิรับจำนำข้าว ให้ใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส.เพื่อป้องกันการซื้อสิทธิ์และสวมสิทธิ์ รวมทั้งไม่ควรให้โรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำเข้าร่วมโครงการ

ขณะที่นายบรรจง ตั้งจิตวัฒนกุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำ มีประมาณ 45 แห่ง เป็นโรงสีภาคอีสาน 30 แห่ง ที่ไม่มีการแปรสภาพข้าวทำให้ข้าวยังค้างอยู่ในโรงสี ตั้งแต่โครงการรับจำนำปี 2548-2549 ส่วนโรงสีในภาคเหนือและภาคกลาง 15 แห่ง เกิดปัญหาข้าวหายจากโกดัง โดยเห็นว่า หากโรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำต้องการเข้าร่วมโครงการรับจำนำอีก จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐและอาจจะต้องวางเงินค้าประกัน 100 เปอร์เซ็นต์จากที่กำหนด 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความพร้อมของโรงสีในขณะนี้ มีโรงสีสนใจเข้าร่วมโครงการรับจำนำแล้ว 400 โรง จากกว่า 1,000 โรงทั่วประเทศ

สำหรับมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รัฐบาลตั้งใจจะแก้ปัญหาช่องว่างของโครงการเดิมทุกด้าน แต่การประกาศรับจำนวนำในอัตราใหม่ จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของข้าว และต้องปลูกข้าวตามความต้องการของตลาดให้เหมาะสม

ส่วนการทุจริตโครงการรับจำนำ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ร่วมกันตรวจสอบด้วยการทำประชาคม การลงทะเบียนการปลูกข้าวจริงของเกษตรกร
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง