วันนี้ (5 ต.ค.66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยในเดือน ก.ย.2566 พบว่า เท่ากับ 108.02 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 0.30% ปรับลดลงอีกครั้งจากเดือน ส.ค.ที่ 0.88 % ตามการชะลอตัวของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และกลุ่มอาหารที่ลดลง
ทั้งนี้ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน หดตัว 0.10% ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากและผักสด เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ส่วนสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.59%
นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า ราคาสินค้าและบริการ ที่นำมาคำนวณเป็นอัตราเงินเฟ้อ จำนวน 430 รายการ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น 300 รายการ เช่น ไข่ไก่ ข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 41 รายการ และสินค้าที่ราคาลดลง 89 รายการ ได้แก่ เนื้อหมู น้ำมันพืช และค่ากระแสไฟฟ้าส่งผลให้ในระยะ 9 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย อยู่ที่ 1.82%
แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ยังคาดว่า จะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า และมีโอกาสที่จะเห็นตัวเลขติดลบ เพราะราคาอาหารยังลดลงต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ระดับสูง
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2566 เหลือในกรอบ 1.0 - 1.7% หรือ ค่ากลาง ที่ 1.35% จากเดิมอยู่ในกรอบ 1.0-2.0% หรือ ค่ากลาง ที่ 1.5% แต่จากอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้น จากภาคท่องเที่ยว และรายได้เกษตร อาจเป็นแรงส่งให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวกว่าที่คาดไว้